สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 6 มีนาคม 2566
ภาครัฐ เพิ่มความเข้มงวดการตรวจจับควันดำและบังคับใช้บทลงโทษสูงสุดในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อลดและป้องกันฝุ่น PM 2.5
นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจสอบตรวจจับและห้ามใช้รถควันดำตามมาตรการตรวจรถควันดำตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 - 28 กุมภาพันธ์ 2566 แบ่งเป็น กทม. ตรวจสอบสะสม 109,696 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานสะสม 23,707 คัน ห้ามใช้สะสม 1,503 คัน และพื้นที่ต่างจังหวัด ตรวจสอบสะสม 55,635 คัน พบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐาน 1,367 คัน ห้ามใช้สะสม 1,367 คัน จากสถิติภาพรวมพบรถยนต์ควันดำเกินค่ามาตรฐานมีประมาณร้อยละ 15 จากรถยนต์ที่เรียกตรวจ ทำให้รัฐจะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการตรวจจับควันดำ “ตรวจจับ ปรับจริง–ห้ามใช้รถควันดำ” บังคับใช้บทลงโทษสูงสุดในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ด้วยการตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำทุกประเภทครอบคลุมถนนสายหลัก สายรอง ทั้งขาเข้า - ออก โดยประชาชนสามารถนำรถยนต์เข้ารับบริการได้ที่โครงการ “คลินิกรถ ลดฝุ่น PM2.5” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการรถยนต์ 9 ราย คือ TOYOTA ISUZU MITSUBISHI NISSAN MAZDA FORD HONDA SUZUKI และ HINO มีศูนย์บริการฯ 1,774 แห่ง รองรับรถยนต์เข้าร่วมโครงการฯ 426,000 คัน พร้อมสนับสนุนส่วนลดสำหรับค่าบำรุงรักษาและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องเพื่อลดควันดำ
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก เกิดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สะสมช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน สาเหตุหลักมาจากยานยนต์ที่เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล ซึ่งตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 ให้ความสำคัญกับการควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะเพื่อลดควันดำ ด้วยการเพิ่มจุดตรวจและเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบตรวจจับ ระงับการใช้รถควันดำจนกว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้มีรถควันดำเข้ามาในเขตเมือง