• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 พฤศจิกายน 2565

ประเทศไทยและเนเธอร์แลนด์ ร่วมกันหารือทวิภาคีด้านการจัดการน้ำระหว่างการประชุม COP 27 พร้อมเชิญไทยเข้าร่วมการประชุม UN 2023 Water Conference ที่เนเธอร์แลนด์จะเป็นเจ้าภาพช่วงเดือนมีนาคม 2566

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้หารือร่วมกับ H.E. Mr. Henk Ovink ผู้แทนพิเศษฝ่ายกิจการน้ำระหว่างประเทศ แห่งราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และ Mr. Robbert Moree จากกระทรวงโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการน้ำ ระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) ณ เมืองชาร์ม-เอล-เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการมีความร่วมมือด้านการจัดการน้ำภายใต้ข้อริเริ่ม “Water as Leverage” ที่พัฒนาบนฐานของประสบการณ์ งานวิจัยและนวัตกรรมด้านการจัดการน้ำของเนเธอร์แลนด์ พร้อมได้เชิญให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นหนึ่งในเมืองตัวอย่าง เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการบริหารจัดการน้ำในเขตเมือง โดยเฉพาะพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (Delta landscape) เช่น กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แลกเปลี่ยนมุมมองด้านการบริหารจัดการน้ำของไทยและความสำคัญของน้ำที่เชื่อมโยงกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สุขภาพ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ความมั่นคงด้านเกษตรและอาหาร ทั้งนี้ เนเธอร์แลนด์ ยังได้เชิญไทยเข้าร่วมการประชุม UN 2023 Water Conference ที่เนเธอร์แลนด์จะเป็นเจ้าภาพช่วงเดือนมีนาคม 2566 ณ นครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นการประชุมสหประชาชาติด้านน้ำครั้งแรกในรอบ 5 ทศวรรษด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 พฤศจิกายน 2565

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แจ้งเตือนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันตก 16 จังหวัด พร้อมรับมือและเตรียมป้องกันสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยช่วงอุทกภัย

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้แจ้งเตือนเตรียมป้องกันสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยช่วงอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ หากไม่ได้รับการป้องกันและการจัดการที่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ได้ เนื่องจากเกิดฝนตกชุกหนาแน่นในพื้นที่ภาคใต้ อาจก่อให้เกิดน้ำท่วมบ้านเรือนและสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 16 จังหวัดในภาคใต้และภาคตะวันตกบางแห่งที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำชับให้เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ภาพรวมมีจำนวนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่เสี่ยงต่อการเกิดเหตุอุทกภัย คือ กระบี่ 3 แห่ง // ชุมพร 6 แห่ง // ตรัง 9 แห่ง // นครศรีธรรมราช 12 แห่ง // นราธิวาส 16 แห่ง // ปัตตานี 19 แห่ง // พังงา 3 แห่ง // พัทลุง 7 แห่ง // ภูเก็ต 1 แห่ง // ยะลา 2 แห่ง // ระนอง 4 แห่ง // สงขลา 11 แห่ง // สตูล 1 แห่ง // สุราษฎร์ธานี 11 แห่ง // ประจวบคีรีขันธ์ 13 แห่ง และเพชรบุรี 1 แห่ง รวมทั้งหมด 119 แห่ง

ทั้งนี้ คพ. ได้ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด 16 จังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพื่อแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย และประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นรับกำจัดขยะมูลฝอยชุมชนชั่วคราว ซึ่งต้องดำเนินการเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือนก่อนเกิดเหตุ รวมทั้ง ได้จัดส่งแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยในภาวะอุทกภัย เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินการ แล้วยังจัดทำอินโฟกราฟิกประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยในภาวะอุทกภัย พร้อมให้ความร่วมมือคัดแยกขยะและการรายงานสถานการณ์สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยผ่านสื่อ Facebook Fan page ของกรมควบคุมมลพิษต่อเนื่อง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 พฤศจิกายน 2565

ประเทศไทย พร้อมสนับสนุนทุกประเทศรับมือปัญหาโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยจะนำเสนอการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกตามกรอบอนุสัญญาฯและความตกลงปารีสต่อที่ประชุม COP 27

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองชาร์ม-เอล-เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ครั้งนี้ จะเป็นการติดตามความคืบหน้าการวางแผนดำเนินการตามคำมั่นสัญญาจากเวทีการประชุม COP 26 เมื่อปี 2564 ที่ตกลงภายในสิ้นปีนี้ประเทศต่างๆจะต้องตีพิมพ์แผนงานที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกันจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 - 2 องศาเซลเซียสให้ได้ในปี 2643 โดยจะเริ่มประชุมในระดับผู้นำในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ ในส่วนของประเทศไทยพร้อมสนับสนุนการเจรจาภายใต้กรอบอนุสัญญาฯและความตกลงปารีส เพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก ที่สำคัญไทยจะนำเสนอผลการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกและแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ได้ทำมาตลอด 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จนถึงปัจจุบัน รวมถึง การที่ไทยจะก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ต่อที่ประชุม COP 27 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงจังและก้าวหน้าของมาตรการและแผนการแก้ปัญหาโลกร้อนของไทย ทั้งแผนระยะสั้นและแผนระยะยาวที่เห็นภาพชัดเจน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ปีนี้ที่ประชุม COP 27 จะมุ่งเน้นการเร่งดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ยกระดับงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายภายใต้กรอบอนุสัญญาฯและความตกลงปารีส เพราะการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมมีความสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะการพิจารณาแผนงานเป้าหมายของโลกด้านการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อยกระดับการดำเนินงานและการสนับสนุนด้านการปรับตัวฯให้กับประเทศภาคีสมาชิก เรื่องการสูญเสียและความเสียหาย เรื่องกลไกสนับสนุนทางการเงิน เพื่อมาใช้ดำเนินงานด้านการสูญเสียและความเสียหายขึ้นเป็นครั้งแรก


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง พร้อมระวังปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางเพิ่มสูงขึ้นจนเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (12 พ.ย.65) ว่า ภาพรวมพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.สงขลา , ยะลา และปัตตานี แล้วมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตร ทำให้ กอนช. ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังช่วงวันที่ 13 – 16 พฤศจิกายนนี้ ใน จ.พัทลุง บริเวณ อ.บางแก้ว เขาชัยสน ปากพะยูน เมืองพัทลุง ป่าบอน และควนขนุน // สงขลา บริเวณ อ.สิงหนคร ระโนด กระแสสินธุ์ เมืองสงขลา จะนะ ควนเนียง และสทิงพระ // ยะลา บริเวณ อ.ธารโต กาบัง ยะหา บันนังสตา และเบตง และปัตตานี บริเวณ อ.ยะหริ่ง พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำโกลก แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี รวมทั้ง เขื่อนบางลาง มีแนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ จึงให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,068 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 861 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแนวโน้มลดลง ส่วนสถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี ที่สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,902 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแนวโน้มลดลง คาดว่า ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้จะกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,866 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 76


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 พฤศจิกายน 2565

ประเทศไทย เตรียมรายงานแผนความสำเร็จการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะยาว ต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) หลังไทยปรับเป้าลดก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 40 ภายในปี 2030

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองชาร์ม-เอล-เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ครั้งนี้เป็นการรวมสุดยอดผู้นำมาร่วมหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในส่วนของประเทศไทยจะนำเสนอแผนจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะยาว ระหว่างปี 2050 - 2065 เพราะไทยจะก้าวสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 จะช่วยสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มสำหรับการลงทุนที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งไทยได้ออกมาตรการและดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังมาโดยตลอด อย่างเช่นแผนการสร้างคาร์บอนเครดิตในไทย ด้วยการปลูกป่าให้ได้ร้อยละ 40 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 120 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ ไทยจะรายงานผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (NDC) ที่ได้แก้ไขเป้าหมายในระยะสั้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง โดยเฉพาะปรับเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 40 จากกรณีปกติ ภายในปี 2030

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้น แต่กลับพบว่าไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นสาเหตุที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดตั้งแต่วันนี้ ซึ่งหากไม่เริ่มต้นทำอย่างจริงจัง ไทยจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างไม่มีที่สิ้นสุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้ จะส่งผลให้ระดับน้ำสูงขึ้นกว่าปกติ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (10 พ.ย.65) ว่า ได้ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน เนื่องจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างและแม่น้ำท่าจีนจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ในวันที่ 11 และ 26 พฤศจิกายน และช่วงวันที่ 9 - 10 ธันวาคม และ 15 - 26 ธันวาคม อาจจะส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร จึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า รวมทั้ง เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที พร้อมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ อ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,153 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราประมาณ 981 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแนวโน้มลดลง ส่วนสถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี ที่สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 3,028 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแนวโน้มลดลง คาดว่า ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนจะกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 49,979 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 76


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 พฤศจิกายน 2565

ประเทศไทย เตรียมเข้าร่วมกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People เพื่อร่วมกับประชาคมโลกปกป้องพื้นที่ทางบกและทางทะเลของโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ในปี 2030 ตามเป้าหมาย 30x30

นายวราวุธ ศิลปะอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเข้าร่วมกลุ่ม High Ambition Coalition (HAC) for Nature and People เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อแสดงออกถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยร่วมกับประชาคมโลกในการปกป้องพื้นที่ทางบกและทางทะเลของโลกให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มประเทศที่สนับสนุนเป้าหมาย 30x30 กลายเป็นกลุ่ม HAC ที่ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 100 ประเทศ นั้น ทำให้เป้าหมาย 30x30 กลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายระดับโลกภายใต้กรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี 2020 จะได้รับการรับรองในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 หรือ CBD COP 15.2 ระหว่างวันที่ 7 - 19 ธันวาคมนี้ ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา สำหรับการเข้าร่วมกลุ่ม HAC ของไทยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภทให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2580 และเป็นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านสิ่งแวดล้อมของไทยกับสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในวาระที่ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศสมีกำหนดการเข้าพบหารือกับนายกรัฐมนตรีไทยช่วงเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ด้วย ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ยังได้มีมติเห็นชอบให้สนับสนุนการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution) จะเป็นโอกาสสำคัญในการบูรณาการระหว่างอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) และกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นหน่วยประสานงานกลางของทั้งสองอนุสัญญาดังกล่าว

สำหรับเป้าหมาย 30x30 เป็นแนวทางสำคัญในการจัดการกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอนทั้งทางบกและทางทะเล การป้องกันโรคระบาดในอนาคต การส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจชีวภาพ เพิ่มผลผลิตด้านประมง ตลอดจนเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ภาคเอกชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศมากขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 พฤศจิกายน 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้คณะผู้แทนไทยสนับสนุนการเจรจาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศไทยอย่างยั่งยืน ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27)

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการประชุมมอบนโยบายคณะผู้แทนไทยในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 6 - 18 พฤศจิกายนนี้ ณ เมืองชาร์ม-เอล-เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ เพื่อพิจารณาการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการดำเนินงานตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) การปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ (LT-LEDS) และการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (NDC) เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศให้ประชาชนทุกระดับมีความเป็นอยู่ที่ดี ซึ่งครั้งนี้ประเทศไทยได้วางกรอบท่าทีเจรจาในเวที COP 27 ระหว่างปี 2565-2566 โดยจะสนับสนุนการเจรจาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก และคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ไทยจะได้รับอย่างยั่งยืน พร้อมยืนยันการเจรจาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องคำนึงถึงความเป็นธรรม และหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง คำนึงถึงขีดความสามารถของแต่ละภาคี โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นแนวทางดำเนินงานในทุกมิติแก้ปัญหาและขับเคลื่อนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องมีบทบาทผู้นำการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่องและครอบคลุมทุกภาคเศรษฐกิจ ในส่วนของไทยตั้งใจจะร่วมกับภาคีอื่นๆดำเนินงานตามความตกลงปารีส โดยขอให้คณะผู้แทนไทยใช้กรอบท่าทีเจรจาฯดังกล่าวเป็นหลักในการเจรจา และติดตามประเด็นการเจรจาในระหว่างการประชุมอย่างเคร่งครัด พร้อมรายงานความก้าวหน้าผลการประชุมผ่านระบบการรายงานที่จัดเตรียมไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการสรุปผลการประชุม COP 27 และการประชุมที่เกี่ยวข้องเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีต่อไป


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.