• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

จิสด้า ผลักดันใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดทำบัญชีคาร์บอนให้กับไทย เพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและช่วยประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าได้อย่างถูกต้อง

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 กุมภาพันธ์ 2566

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ผลักดันใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดทำบัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทย เพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและช่วยประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าได้อย่างถูกต้อง

นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในฐานะประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก (CEOS) กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. , หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม , หน่วยงานต่างประเทศ Silva Carbon และคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก หรือ CEOS ได้จัดงานสัมมนา “Carbon Accounting :Observation from Space รู้เท่าทันเทคโนโลยีกับการใช้ดาวเทียมวัดค่าคาร์บอนเครดิต” เพื่อสร้างการรับรู้การใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดทำบัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทยลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมสำรวจการกักเก็บคาร์บอนมานานแล้ว และปรับปรุงพัฒนาเทคนิคใหม่ๆให้มีมาตรฐานสากลต่อเนื่อง ทำให้การจัดทำบัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทยถือเป็นความท้าทายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อการเฝ้าระวังและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้โลก จะส่งผลต่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ จากการประชุม CEOS Plenary 2022 ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก หรือ CEOS ที่มีหน่วยงานด้านอวกาศระดับโลกเข้าร่วมประชุม ที่ สาธารณรัฐฝรั่งเศสเมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น GISTDA ในฐานะประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลกปี 2023 หรือ CEOS Chair 2023 ได้ผลักดันประเด็นการลดการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยนำข้อมูลจากดาวเทียมและเทคนิคที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นเครื่องมือสำรวจและตรวจวัดการกักเก็บคาร์บอน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และแก้ปัญหานำไปสู่การบรรเทาปัญหาโลกร้อนสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวย้ำว่า จำเป็นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าการใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียม เพื่อการสำรวจการกักเก็บปริมาณคาร์บอนในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่อื่นๆ แสดงให้เห็นวิธีการที่เป็นมาตรฐานในการกักเก็บคาร์บอนและแสดงความพร้อมของไทยที่จะใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดการคาร์บอนเครดิตนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชนและประเทศ เนื่องจากความเป็นจริงการสำรวจพื้นที่ภาคสนามไม่สามารถใช้แรงงานคนวัดต้นไม้ได้ทุกต้น ดังนั้น การนำเทคโนโลยีจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาสนับสนุน จะทำให้สามารถจำแนกประเภทป่าไม้และประเมินความหนาแน่นชั้นเรือนยอดต้นไม้จากแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าได้อย่างถูกต้องเพียงพอกับการใช้งาน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ช่วยประหยัดเวลา และแรงงานคนที่ต้องใช้สำรวจภาคสนามและลดความผิดพลาดจากการสำรวจด้วย โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและวิเคราะห์นี้จะถูกรวบรวมนำไปสู่การจัดทำ “บัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทย” เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่อไป


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.