• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ป่าชายเลน ดูดกลับคาร์บอนกว่าปีละ 9.4 ตันต่อไร่ เร่งการปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกต่อไป

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 มีนาคม 2566

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกสุทธิภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน จำนวนทั้งสิ้น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ. 2580 โดยมีมาตรการสำคัญ ได้แก่ การปลูกและฟื้นฟูป่าธรรมชาติ การปลูกป่าเศรษฐกิจ การเพิ่มพื้นที่พื้นที่สีเขียว และการป้องกันการบุกรุกป่าและเผาป่า โดยมอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงาน

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ตั้งเป้าฟื้นฟูป่าชายเลน 3 แสนไร่ ใน 23 จังหวัด ภายใน 10 ปี (ปี 2565-2574) อีกทั้งผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาด้วยการเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลทรัพยากรป่าชายเลนได้มีการออกระเบียบ พร้อมจัดทำคู่มือการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต และขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการปลูกป่าชายเลนกับ กรม ทช. เพื่อให้การดำเนินงานปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต เกิดประสิทธิภาพ สัมฤทธิ์ผลทุกมิติ และบรรลุเป้าหมายของทุกฝ่าย โดยมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ในการจัดเก็บข้อมูลการประเมินคาร์บอนเครดิต

ได้มีการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของไม้สกุลโกงกาง (Rhizophara spp.) ในพื้นที่แปลงปลูกป่าชายเลนของประเทศไทย ดำเนินการโดยคณะทำงานเพื่อศึกษาศักยภาพการเก็บคาร์บอนของป่าชายเลน คณะทำงานเป็นบุคลากรจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ (ISME)

โดยมีการเก็บข้อมูลในพื้นที่ 4 โซน แบ่งออกเป็น โซนตะวันออก โซนอ่าวไทย ตัว ก โซนอ่าวไทย และโซนอันดามัน ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี เพชรบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง สตูล กระบี่ และพังงา จำนวน 116 แปลง ใน 16 ชั้นอายุ (แปลงปลูกป่าชายเลนที่อายุ 7, 8, 9, 10, 12, 13, 14, 15, 16, 18, 19, 21, 27, 28, 29 และ 30 ปี) โดยผลการศึกษาการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของไม้สกุลโกงกาง (Rhizophara spp.) ในพื้นที่แปลงปลูกป่าชายเลนของประเทศไทย พบว่าป่าชายเลนสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ 9.4 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อไร่ต่อปี

โครงการปลูกป่าเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต คาดว่าจะสร้างประโยชน์ในหลายมิติ ทั้งเพิ่มพื้นที่ป่า เพิ่มความสมบูรณ์ของทรัพยากรป่าไม้ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และลดการตั้งกำแพงภาษีจากสหภาพยุโรป ตลอดจนสร้างรายได้รวมถึงประโยชน์ต่อชุมชนและประชาชน ให้สามารถประกอบอาชีพตามวิถีชุมชนในเขตป่าชายเลนได้ตามปกติทุกประการ ในส่วนขององค์กรภาคธุรกิจก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด มีสิทธิเพียงการคิดคำนวณคาร์บอนเครดิตเท่านั้น และจะต้องดูแลป่าที่ปลูกขึ้นใหม่ต่อเนื่องไปไม่น้อยกว่า 10 ปี


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.