• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังฝนตกบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมาก พร้อมระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก 3 จังหวัดภาคใต้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (7 พ.ค.65) ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนเพิ่มมากขึ้น ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งและคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช 116 มิลลิเมตร , ตาก 148 มิลลิเมตร และประจวบคีรีขันธ์ 70 มิลลิเมตร โดยต้องเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในภาคใต้บริเวณ อ.พะโต๊ะ อ.สวี อ.ละแม อ.ทุ่งตะโก อ.ท่าแซะ และ อ.ปะทิว จ.ชุมพร // อ.กาญจนดิษฐ์ อ.วิภาวดี อ.เกาะสมุย และ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี // อ.พรหมคีรี อ.ลานสกา และ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ส่วนแม่น้ำสายหลักน้ำน้อยถึงปกติและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,106 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56 และเฝ้าระวังน้ำมากบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลางตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ โดยให้คาดการณ์ปริมาณฝนและสถานการณ์น้ำในพื้นที่เพื่อปรับเกณฑ์การเก็บกักและระบายน้ำเขื่อนบางลางปี 65/66 ให้เหมาะสม สามารถรองรับสถานการณ์อุทกภัย และการจัดสรรน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพต่อไป ส่วนกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำรับมือฝนในจังหวัดสมุทรปราการ ด้วยการบริหารจัดการน้ำผ่านคลองชลประทาน 15 สาย ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ 11 แห่ง พร้อมติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนย้อนหลัง เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ , ตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทาน และสถานีสูบน้ำให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ และพร่องน้ำในคลองชายทะเลเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 พฤษภาคม 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 43,282 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ผ่านพ้นช่วงเวลาในการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งแล้ว พบว่าทั้งประเทศมีการใช้น้ำเกินแผนเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้การใช้เป็นไปตามแผนที่วางไว้และเพียงพอตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมา

หลังจากนี้จะเป็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ให้บริหารจัดการน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึง ปริมาณ เวลา ผลกระทบ ความมั่นคงของอาคารชลประทาน และระเบียบกฎหมาย เป็นหลัก หมั่นตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ

หากมีการปรับปรุงหรือซ่อมแซมให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยไวพร้อมกับจัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือหากเกิดสถานการณ์น้ำหลาก จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมทั้งระบบสื่อสารสำรองให้พร้อมใช้งานได้ทันที หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญให้รายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการในพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดได้ทราบอย่างต่อเนื่องด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 พฤษภาคม 2565

ประเทศไทย พบประชากรโลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายเพียง 14 ตัวบริเวณทะเลสาบสงขลา พร้อมเร่งหาแนวทางป้องกันและเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีให้เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อลดความเสี่ยงสูญพันธุ์

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงสถานการณ์โลมาอิรวดีในประเทศไทยว่า ปัจจุบันมีประชากรโลมาอิรวดีเหลืออยู่เพียง 14 ตัว ในพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นฝูงสุดท้ายของไทย หลังเคยสำรวจเมื่อ 30 ปีก่อนพบมีโลมาอิรวดีในประเทศมากกว่า 100 ตัว ภาพรวมจากรายงานการเกยตื้นของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 - มีนาคม 2565 พบโลมาอิรวดีเกยตื้นตายถึง 94 ตัว สาเหตุมาจากการติดเครื่องมือประมง ไม่ทราบสาเหตุ และป่วยตาย โดยพื้นที่พบส่วนใหญ่อยู่ใน จ.สงขลาและพัทลุง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่างได้สำรวจประชากรโลมาอิรวดีด้วยวิธีทางเรือ สำรวจทางอากาศโดยเครื่องบินเล็ก และอากาศยานไร้คนขับ (Drone) เพื่อดูแลและเฝ้าระวังมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งช่วงปี 2561 ได้ประกาศแนวเขตพื้นที่คุ้มครองโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา แต่แนวโน้มประชากรยังคงลดลง โดยปี 2558 พบเพียง 27 ตัว แต่ปัจจุบันปีนี้เหลืออยู่ 14 ตัวเท่านั้น จึงจำเป็นต้องเพิ่มการตรวจตราเฝ้าระวังมากขึ้น ควบคู่กับป้องกันการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย หรือหยุดการใช้เครื่องมือที่เป็นภัยคุกคามเข้มงวดขึ้น โดยการดูแลความปลอดภัยของโลมาอิรวดีฝูงสุดท้ายนี้ในระยะสั้นจะมุ่งเน้นระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้ถี่ถ้วนมากขึ้น พร้อมลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนและชาวประมงในพื้นที่เกี่ยวกับความสำคัญของโลมาอิรวดีที่เหลืออยู่ เนื่องจากโลมาอิรวดีจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 และเป็นสัตว์ที่ได้รับการคุ้มครองตามข้อตกลงระหว่างประเทศ จากการประชุม CITES ครั้งที่ 13 เมื่อปี 2546 ที่ประเทศไทยได้เสนอให้โลมาอิรวดีเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองบัญชีที่ 1 ส่งผลให้โลมาอิรวดีได้รับความคุ้มครองสูงสุดในระดับนานาชาติด้วย หลังทั่วโลกพบประชากรโลมาอิรวดีในแหล่งน้ำจืดเหลือเพียง 5 แห่ง คือ อินเดีย 140 ตัว , อินโดนิเซีย 90 ตัว , เมียนมา 80 ตัว , กัมพูชา 90 ตัว และไทย 14 ตัว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ระยะยาว จำเป็นต้องสำรวจศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการผสมพันธุ์แบบเลือดชิดในกลุ่มโลมาพื้นที่ทะเลสาบสงขลา รวมถึง การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในทะเลสาบ การแก้ปัญหามลพิษ การตื้นเขิน พร้อมเร่งเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำที่เป็นอาหารของโลมาอิรวดี สร้างศูนย์ช่วยเหลือและพยาบาลสัตว์ทะเล การเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือพร้อมอุปกรณ์การปฏิบัติอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับดูแลจัดการถิ่นที่อยู่ของโลมา และการจัดการสภาพแวดล้อมของทะเลสาบสงขลา อย่างระมัดระวัง เพราะที่ผ่านมาความเคยชินจากวิถีการทำประมงของบางกลุ่มบุคคลกระทบการดำรงชีวิตของโลมาอิรวดี ทำให้ต้องหาแนวทางปรับความเข้าใจใหม่ให้เข้มงวดและเข้าใจให้ตรงกัน เพื่อให้ประชากรโลมาอิรวดีไม่ลดลงแล้วเพิ่มขึ้นไม่ให้สูญหายไปจากประเทศไทยและโลกด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 พฤษภาคม 2565

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และการเคหะแห่งชาติ ร่วมกันจัดการน้ำเสียรวมของชุมชน โดยเฉพาะหมู่บ้าน พร้อมสร้างความรู้ความเข้าใจการปฏิบัติตามกฎหมาย เพื่อให้การบำบัดน้ำเสียเป็นตามมาตรฐานประเทศ

นายอรรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียของประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากชุมชน แต่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนทั่วประเทศมีเพียง 118 แห่งเท่านั้น สามารถบำบัดน้ำเสียได้ประมาณ 2.97 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยทั่วประเทศมี อปท. ทั้งหมด 7,774 แห่ง พบมีระบบบำบัดน้ำเสียเพียง 91 แห่ง หรือร้อยละ 1.17 จึงจำเป็นต้องบำบัดน้ำเสียจากต้นทาง ทำให้ คพ. และการเคหะแห่งชาติได้ร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจการปฏิบัติตามกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ให้กับผู้บริหาร พนักงานการเคหะแห่งชาติ นิติบุคคล ชุมชนการเคหะและกรรมการชุมชนการเคหะทั่วประเทศ ด้วยการอบรมการเสริมสร้างศักยภาพการปฏิบัติตามกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในการบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด ซึ่งการเคหะแห่งชาติ จะพัฒนาความเป็นอยู่และมีสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยมีโครงการของการเคหะแห่งชาติประมาณ 807 โครงการ เป็นที่อยู่อาศัยและแก้ปัญหาชุมชนแออัดรวม 746,439 หน่วย และโครงการเคหะชุมชน บริการชุมชน ฟื้นฟูเมือง อาคารเช่า เอื้ออาทร และพิเศษบริการชุมชนมี 458,290 หน่วย รวมผู้อาศัย 3 - 4 คนต่อหน่วยทั้งนี้ อาคารที่อยู่อาศัยดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของการเคหะแห่งชาติจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ 2535 ทั้งการบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด และการปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและแบบการเก็บสถิติและข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียด และรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2555 ออกตามความในมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า คพ.ได้เน้นอบรมเรื่องมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากอาคารบางประเภทและบางขนาด และแนวทางปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด // แนวทางการเก็บสถิติและข้อมูลซึ่งแสดงผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละวัน ตามแบบ ทส. 1 และการจัดทำรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละเดือนตามแบบ ทส.2 ตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและแบบการเก็บสถิติและข้อมูลการจัดทำ บันทึกรายละเอียดและรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2535 // ขั้นตอนการดำเนินงานของเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษการตรวจและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคาร และสุดท้าย บทลงโทษและการดำเนินการตามกฎหมาย โดย คพ.จะติดตามติดตามตรวจสอบและให้คำแนะนำต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชน 10 จังหวัดระวังเสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันจากพายุฤดูร้อนถึงวันที่ 5 พฤษภาคมนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (3 พ.ค.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง มีลมแรง และอุณหภูมิลดลง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันจากพายุฤดูร้อนถึงวันที่ 5 พฤษภาคม บริเวณ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ตราด

ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และกระบี่ ขณะที่แม่น้ำสายหลักน้ำน้อยถึงปกติและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาพรวมมีปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,570 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 57 และเฝ้าระวังน้ำมากบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ อย่างกรมชลประทาน เร่งซ่อมแซมมอเตอร์ไฟฟ้าโครงการฝายบ้านฝ่ายท่า ม.5 ต.ทุ่งมะพร้าว อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา คาดจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ขณะที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เร่งเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ โดยให้สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 1 ลำปาง ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลขนาดใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร 120 ไร่ พร้อมติดตามการใช้ประโยชน์พัฒนาต่อยอดโครงการศึกษาแอ่งน้ำบาดาล ลำพูน - เชียงใหม่ ของกลุ่มเกษตรกร ต.ก้อ อ.ลี้ จ.ลำพูน , สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 10 อุดรธานี ติดตามงานก่อสร้างและการบำรุงรักษาตามโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2564 (งบกลาง) ณ บ้านสว่าง ม. 2 ต.นายูง อ.นายูง จ.อุดรธานี และงานก่อสร้างตามโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.โพธิ์ตาก-นาทราย อ.เมือง จ.นครพนม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์   2 พฤษภาคม 2565

ค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ลดลงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ หลังมีฝนตกลงมาช่วยลดการสะสมของฝุ่นลง

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (2 พ.ค.65) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีคุณภาพดีมากถึงดี โดยค่าฝุ่นปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่หลังมีฝนตกลงมาหลายพื้นที่ แต่แนวโน้มค่าฝุ่นช่วงวันที่ 5 - 6 พฤษภาคม ต้องเฝ้าระวังค่าฝุ่นด้วยการควบคุมการเกิดจุดความร้อนภายในประเทศด้วยเพื่อช่วยลดการสะสมของฝุ่นลงได้

ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีมากถึงปานกลาง ค่าฝุ่นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ หลังมีฝนตกลงมาในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 7 วันข้างหน้าฝุ่น PM 2.5 แนวโน้มจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานวันที่ 4 - 9 พฤษภาคม

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนบำรุงดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ จอดรถให้ดับเครื่อง ลดการเผาในที่โล่ง และขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ หากอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานให้หลีกเสี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงและแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซด์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังปริมาณน้ำแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำโขงน้อยลง พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (1 พ.ค.65) ว่า แม่น้ำสายหลักน้ำน้อยถึงปกติและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขงน้ำน้อยถึงปกติและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,778 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 57 พร้อมเฝ้าระวังน้ำน้อย 4 แห่ง แบ่งเป็น ภาคเหนือ 3 แห่ง และภาคตะวันตก 1 แห่ง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ เช่น ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และเขื่อนระบายน้ำ // ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา โดยกรมชลประทานและจังหวัดลพบุรีเร่งขุดลอกแม่น้ำ แม่น้ำบางขาม ต.มหาสอน อ.บ้านหมี่ ต.บางขาม อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี ระยะทาง 10 กิโลเมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 40,000 ไร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำบางขามช่วงหน้าน้ำหลาก รวมทั้ง เพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง ส่วนกรมเจ้าท่า ปฏิบัติงานขุดลอกเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำช่วงหน้าน้ำหลาก คือ แม่น้ำคำ ต.จันจว้า อ.แม่จัน จ.เชียงราย ระยะทาง 3,050 เมตร ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ 339 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตร 17,800 ไร่ , แม่น้ำปัว ต.แงง และ ต.เจดีย์ชัย อ.ปัว จ.น่าน ระยะทาง 1,800 เมตร ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์ 550 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรประมาณ 1,300 ไร่ , คลองลุงช่วง ต.บ้านใหม่สามัคคี อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ระยะทาง 1,650 เมตร , คลองบางม่วง (ร่องใน) ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ระยะทาง 1,300 เมตร และร่องน้ำบ้านน้ำปูลากาปะและน้ำปูลาวาจิ อ.เมือง จ.นราธิวาส ระยะทางตามแผน 1,800 เมตร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 เมษายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังเกิดฝนตกจากพายุฤดูร้อน พร้อมระวังเกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันจากพายุฤดูร้อนช่วงวันที่ 1 - 5 พฤษภาคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (30 เม.ย.65) ว่า ช่วงวันที่ 1 - 2 พฤษภาคม ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.หนองคาย 106 มิลลิเมตร , นครศรีธรรมราช 94 มิลลิเมตร และยะลา 92 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั่วประเทศทุกขนาด 22,739 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 39 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังเฝ้าระวังน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันจากพายุฤดูร้อนช่วงวันที่ 1 - 5 พฤษภาคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.อุบลราชธานี ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ // ภาคตะวันออก บริเวณ จ.ตราด และภาคใต้ บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต และกระบี่ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำต่อเนื่อง เตรียมแผนรับน้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า และเตรียมการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.