• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 กันยายน 2565

เจอทางออก แก้ปัญหา โรคใบยางร่วง ให้ชาวสวนยางภาคใต้ หลังเจอปัญหากว่า 8 ปี

พรรคประชาชาติร่วมวิจัยปัญหาโรคใบยางร่วงให้พี่น้องสวนยางจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สำเร็จแล้ว หลังร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยวันนี้ ที่อำเภอเมือง จังหวัดยะลา พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ นายอับดุลอายี สาแม็ง ส.ส. ยะลา เขต 3 และ ผศ.ดร.อิสมะแอ เจ๊ะหลง อาจารย์คณะวิทยาศาตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกันหารือแนวทางการนำไปทดลองใช้กับต้นยางให้กับชาวสวนยาง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยด่วนที่สุดเพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือให้กับชาวสวนยาง หลังจากต้องประสบปัญหามานานไม่ต่ำกว่า 8 ปี

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวโดยสรุปว่า ชาวสวนยาง ในภาคใต้ ประสบปัญหาใบยางร่วง ได้ไปดูมาแล้วช่วงหนึ่ง ในภาคราชการยังพยายามจะช่วยแต่ว่ายังไม่ค่อยมีความคืบหน้า ที่ ชาวบ้านยังรู้สึกว่ายังไม่มีใครมาช่วย คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเนื่องจากเป็นมหาลัยที่ทำการศึกษาวิจัย เรื่องนี้ โดยเฉพาะในช่วงหนึ่งที่ทางอาจารย์ และทางพรรค โดย ส.ส. ยะลา เขต 3 ได้มาร่วมทดลอง ประสบความสำเร็จอย่างมีนัยยะ ทั้งโรคใบยางร่วงและโรคกล้วยหิน มีความมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาโรคใบยางร่วงได้ วิธีการก็คือ พรรคเรา ส่งเสริมเพื่อการใช้ เทคโนโลยี ใช้ความรู้ ใช้การวิจัย มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีส่วนร่วมสนับสนุนงานวิจัยกับอาจารย์

เราจะมีพื้นที่ทดลอง เพื่อให้ได้เป็นความหวังของประชาชน คือการที่ได้ปล่อยไป มันเป็นเงินที่ต้องสูญหายไป เพราะผลผลิตยางที่ดินเท่าเดิม ผลผลิตน้อยลงครึ่งหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ ราคายางเราก็กำหนดไม่ได้ ขึ้นอยู่กับตลาดโลก แต่สิ่งที่เราทำได้คือทำให้ยางมีผลผลิตมากขึ้น เพราะยังเป็นที่ต้องการของโลกอยู่ แต่ตอนนี้ผลผลิตยังไม่มากขึ้นยังลดลงไปครึ่งหนึ่ง เพราะยางเป็นโรค เราก็ต้องมารักษาโรค และต้องปฏิบัติเชิงรุกด้วยว่าจะทำยังไงให้น้ำยางมากกว่าเดิม อันนี้ที่เรามาคุยหารือกัน และได้ตกผลึกแล้วว่า ของอาจารย์สามารถที่จะใช้สารชีวภัณฑ์แล้วเราจะเอาเกษตรกร ที่อยู่ในโครงการเรา ได้ทดลอง ทางราชการ ได้นำไปใช้ เกือบล้านไร่ ซึ่ง เกือบล้านไร่ที่น้ำยางลดก็เหมือนทำให้เงินหายไปมากมายเลย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 กันยายน 2565

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยคณะกรรมการเห็นชอบรายงาน EIA เพื่อการบริหารจัดการน้ำ ของกรมชลประทาน 2 โครงการ ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกอน อ.เชียงกลาง จ.น่าน และโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี และแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ให้แก่ประชาชน รวมถึงเห็นชอบโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในเขตนครหลวง โดยกำชับให้เจ้าของโครงการต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการไปดำเนินการ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญต่อการป้องกันการปนเปื้อนมลพิษ โดยเห็นชอบต่อการกำหนดมาตรฐานคุณภาพตะกอนดินในแหล่งน้ำผิวดิน เพื่อปกป้องมนุษย์ผ่านห่วงโซ่อาหาร และปกป้องสัตว์หน้าดิน เนื่องจากการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมมักเคลื่อนย้ายมาสะสมในตะกอนดิน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 กันยายน 2565

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ กรมป่าไม้ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ช่วยกันปลูกป่าพื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและลดโลกร้อนในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองตะเคียน เพื่อมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้ประเทศ

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ กรมป่าไม้ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ทำโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม พร้อมทำกิจกรรมปลูกป่าพื้นที่ป่าต้นน้ำลดวิกฤติสภาวะโลกร้อน ลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองตะเคียน อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ถือเป็นการสร้างความสมดุลให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะการฟื้นฟูและการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศ เพราะการปลูกป่าในพื้นที่ต้นน้ำจะช่วยเพิ่มศักยภาพพื้นที่แหล่งต้นน้ำ ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ช่วยรักษาฟื้นฟูระบบนิเวศตามธรรมชาติ และคืนความสมดุลให้กับความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งสำคัญประชาชนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มีส่วนร่วมอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟูต่อเนื่อง ทั้งนี้ พื้นที่ อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี เป็นพื้นที่เคยออกใบอนุญาตให้สัมปทานปลูกไม้ยูคาลิปตัส แต่ปัจจุบันไม่มีการต่อใบอนุญาตสัมปทานดังกล่าว ทำให้กรมป่าไม้เร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าให้คืนความอุดมสมบูรณ์โดยเร็ว หลังพบพื้นที่แห่งนี้เป็นเส้นทางเดินของช้างป่าที่มาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน

นอกจากนี้ สผ.ยังได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการการมีส่วนร่วมส่งเสริมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อให้ความรู้เรื่องทิศทางการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรีกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึง การปลูกป่าให้เป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย จำเป็นต้องมุ่งเน้นให้ความรู้อย่างเร่งด่วนในทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันเปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาสในตลาดคาร์บอน เร่งลดการปล่อยคาร์บอน สร้างโอกาสธุรกิจสีเขียว แปลงคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้ เพื่อสร้างความสามารถการแข่งขันให้อยู่รอด ควบคู่กับ พัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน แล้วขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 กันยายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ทั่วประเทศหลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พร้อมระวังระดับน้ำในเขื่อน 7 แห่งสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (7 ก.ย.65) ว่า ประเทศไทยในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.กรุงเทพมหานคร 178 มิลลิเมตร , ปทุมธานี 149 มิลลิเมตร และนราธิวาส 129 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ภาคเหนือ บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี // ภาคตะวันออก บริเวณ จ.นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด // ภาคกลาง บริเวณ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี กรุงเทพมหานครและปริมณฑล // ภาคใต้ บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 52,207 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 64 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล แควน้อยบำรุงแดน บึงบอระเพ็ด อุบลรัตน์ ขุนด่านปราการชล บางพระ และหนองปลาไหล


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6 สิงหาคม 2565

ที่มา : https://mgronline.com/business/detail/9650000085214

บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด เดินหน้าส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรน้ำตลอดกระบวนการผลิตให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยหลักการ 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) ขับเคลื่อนผ่านทุกกิจกรรมทางธุรกิจในทุกโรงงานและสถานประกอบการ มุ่งสู่การเป็น “โรงงานสีเขียว” ที่มีส่วนร่วมรักษาทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยบริษัทฯ สามารถลดปริมาณการใช้น้ำต่อหน่วยการผลิตลงได้ถึง 91% บริษัทฯ ได้ใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดน้ำที่เหลือจากกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพที่สูงกว่าที่กฎหมายกำหนดก่อนปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ รวมถึงการนำมาหมุนเวียนใช้ภายในโรงงานอีกด้วย กิจกรรมเหล่านี้นับเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้กลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้ 50% ภายในปี 2030 ตามแผนการส่งเสริมความยั่งยืนของโลกที่ได้วางไว้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 สิงหาคม 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำ ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านสมุทรศาสตร์ จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเข้ามาเป็นกลไกทางปัญญาจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หลังพบคนไทยมีความรู้ด้านสมุทรศาสตร์เพียงร้อยละ 10

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อทะเลที่ยั่งยืน” ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเลครั้งที่ 7 จัดโดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่า การพัฒนาบุคลากรเข้ามาจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำเป็นต้องติดอาวุธทางปัญญาเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับแนวคิดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 แนวคิดของโลกปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของสมุทรศาสตร์ที่มีพื้นที่มหาสมุทรมากกว่าร้อยละ 70 แต่ปัจจุบันพบมนุษย์สามารถศึกษาวิจัยได้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ขณะที่คนไทยมีความรู้เรื่องสมุทรศาสตร์ไม่ถึงร้อยละ 10 จำเป็นต้องเพิ่มความรู้ด้านกลไกทางทะเลให้มากขึ้น โดยเริ่มจากยกระดับและพัฒนาการศึกษาของเยาวชนมาสร้างงานวิจัยและอนุรักษ์ทรัพยากร ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนมิถุยายนที่ผ่านมาบนเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทร ครั้งที่ 2 ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการจัดการขยะทะเล การแก้ปัญหามลพิษทางทะเล การจัดการความเป็นกรดในมหาสมุทร และการจัดการประมงผิดกฎหมายให้สอดรับกับการดำเนินการทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2021 – 2030 เพื่อมุ่งลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งทะเลว่า จะนำเรื่องการทำแนวกำแพงคลื่นกลับมาทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันปัญหาของการกัดเซาะชายฝั่งของไทยยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องมากกว่า 800 กิโลเมตร จากพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยประมาณ 3,151 กิโลเมตร หรือในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล โดยเชื่อจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาการกัดเซาะฝั่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้ว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 สิงหาคม 2565

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ตรวจเข้มคุณภาพปุ๋ยยูเรียนำเข้า(สูตร 46-0-0) เพื่อให้เกษตรกรของไทยได้ใช้ปุ๋ยคุณภาพที่ดีและคุณสมบัติถูกต้องตามที่สำแดงและเป็นการป้องกันการปลอมปนของปุ๋ยด้อยคุณภาพ ทั้งนี้คาดว่าจากนี้ไปราคาปุ๋ยน่าจะมีโอกาสลดลง เนื่องจากปริมาณปุ๋ยยูเรียที่ภาคเอกชนขอนำเข้าเริ่มมีปริมาณเพิ่มขึ้นโดยตั้งแต่มกราคม-กรกฎาคมนี้ มีการนำเข้าแล้วกว่า 1 ล้านตัน ซึ่งปริมาณเกือบเท่ากับการนำเข้าในช่วงภาวะปกติก่อนที่จะเกิดสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซีย ที่ถูกระบุว่าเป็นเหตุทำให้ปุ๋ยมีราคาแพงเพราะเป็นประเทศที่ส่งออกปุ๋ยรายสำคัญ

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า วันนี้ลงเรือตรวจติดตามการนำเข้าปุ๋ยยูเรีย โดยตรวจติดตามการนำเข้าปุ๋ยยูเรีย จากเรือใหญ่และการขนถ่ายปุ๋ยยูเรีย รวมถึงสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ในบริเวณทะเลรอบเกาะสีชังและท่าเรือเอกชน เขตพื้นที่ชายฝั่ง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยเฉพาะมาตรการเฝ้าระวัง ติดตามและควบคุมการนำเข้าปุ๋ยเคมีในลักษณะการนำเข้าแบบเทกอง (Bulk) เพื่อป้องกันการนำเข้าปุ๋ยที่ไม่มีคุณภาพตาม ทั้งนี้ ได้กำชับให้สารวัตรเกษตรและสารวัตรเกษตรอาสา ทั่วประเทศเฝ้าระวังไม่ให้มีปุ๋ยด้อยคุณภาพวางจำหน่ายในตลาด เนื่องจากปุ๋ยยูเรียมีความสำคัญในระบบการผลิตทางการเกษตร หากปุ๋ยด้อยคุณภาพก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนเกษตรกร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 กันยายน 2565

นายคมกฤช อารีย์เกิดเพียร ผู้อำนวยการส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง รายงานการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง ประจำปี 2565 ของจังหวัดลำปาง ต่อที่ประชุมเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) การป้องกันและเเก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2565 โดยมีนาย วราวุฒิ ศิลปอาชา รัฐมนตรีกว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการประชุม ผ่านโปรเเกรม ZOOM Cloud Meetings

การประชุมครั้งนี้ เป็นการนำเสนอสรุปสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ในปี 2565 การดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งระดับส่วนกลางและผู้แทน 17 จังหวัดภาคเหนือ ปัจจัยความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งในปี 2565 พบว่าสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง มีแนวโน้มดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา ทั้งจำนวนวันที่ค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน จำนวนจุดความร้อน และจำนวนพื้นที่เผาไหม้ มีค่าสถิติที่ลดลงตามเป้าหมายการดำเนินงานของทุกหน่วยงาน ทั้งนี้จะได้มีการรวบรวม สรุปข้อมูลจากการนำเสนอของหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปจัดทำเป็นแผนการดำเนินงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในปี 2566 ต่อไป


  1. สคทช. ร่วมกับ 21 หน่วยงาน เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ประชาชนใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าและถูกกฎหมาย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน
  2. กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปิดหน่วยปฏิบัติการฯ ปี 65 เหตุปีนี้ฝนตกปริมาณมาก พร้อมตั้งหน่วยฯ เคลื่อนที่เร็วช่วยพื้นที่ต้องการน้ำช่วงปลายฤดูฝน
  3. กอนช. ขอให้ประชาชนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำระวังระดับน้ำสูงขึ้น หลังปรับเพิ่มการระบายน้ำ โดยเฉพาะอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา
  4. กอนช. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำอย่างลุ่มน้ำชี-มูล ช่วง 31 ส.ค. – 10 ก.ย. หลังคาดการณ์จะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนัก
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.