• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สร้างและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา ลดมลพิษทางอากาศ ดินเสื่อมโทรม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 ธันวาคม 2565

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาหมอกควันปกคลุมและมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนมกราคม - พฤษภาคม ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการเผาทำลายทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์

ภาครัฐให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบดำเนินการควบคุมการเผาในพื้นที่การเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร มีเป้าหมายในการการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับเกษตรกรเกิดความตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ในปี 2566 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร โดยใช้กลไกของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) หรือศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) หรือกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ส่งเสริมการทำการเกษตรแปลงใหญ่ หรือเกษตรกร Young smart farmer หรือเกษตรกร Smart farmer หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน หรือเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการอบรม ให้ความรู้แก่เกษตรกร จำนวน 17,640 ราย เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลอดการเผา และสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตร รวม 337 เครือข่าย ในพื้นที่ 62 จังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบนที่ประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมอยู่เป็นประจำทุกปี และพื้นที่ 52 จังหวัดที่มีการเผาในภาคการเกษตรสูง ดำเนินการโดยการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับสภาพปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในไร่นา เทคนิคและวิชาการด้านการใช้เทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา ตลอดจนมีการสาธิตการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร นำร่องสาธิตการใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่การเกษตร

การดำเนินโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ในปี 2565 ที่ผ่านมา ผลการสำรวจจากดาวเทียม ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2565 โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (Gistda) พบจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่เกษตร จำนวน 1,915 จุด เทียบกับปี 2564 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2565 จำนวน 3,413 จุด ลดลงไปร้อยละ 43


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.