• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก 3 วันล่วงหน้า พบมี 5 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริหารจัดการน้ำเขื่อนใหญ่ที่น้ำสูงเกินเกณฑ์ เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ

นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ โฆษกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบมีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักสะสมในช่วงนี้ 5 จังหวัด คือ ภาคเหนือ บริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก , อ.แม่สะเรียง อ.แม่ลาน้อย และ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน // ภาคตะวันตก บริเวณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี // ภาคตะวันออก บริเวณ อ.มะขาม จ.จันทบุรี และภาคกลาง บริเวณกรุงเทพมหานคร โดยพื้นที่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งอยู่ในภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ น่าน พะเยา และเชียงราย พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำโขงที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด คือ หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม ซึ่ง กอนช.จะพิจารณาแนวทางการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ฝน 3 วันล่วงหน้าลงถึงระดับจังหวัดผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่วางแผนรับมือได้ทันสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนรับทราบล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้ ได้ให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำสูงสุด (URC) แล้ว คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ , เขื่อนกิ่วลมและเขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง , เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก , บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ , เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น , เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร , เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.สระบุรี , อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง โดยให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำให้น้อยที่สุด แล้วยังให้บริหารจัดการน้ำร่วมกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแม่น้ำด้วย เนื่องจากฝนที่ตกสะสมทำให้ดินอุ้มน้ำไว้นานอาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้

โฆษกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า กอนช.ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตามแนวร่องฝนและมีแนวโน้มจะมีพายุเข้าช่วงเดือนกันยายนต่อเนื่องเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งพายุดังกล่าวจะเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง และภาคกลางตอนบน คาดว่า จะส่งผลต่อปริมาณน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สทนช.ยังได้ประสานให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ เร่งสำรวจสถานการณ์น้ำของแหล่งน้ำขนาดเล็ก ความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนทั้งในส่วนที่อยู่ในความดูแลและที่ถ่ายโอนไปแล้ว จากนั้นให้รายงานกลับมายัง สทนช.ภายในวันศุกร์นี้ (19 ส.ค.65) เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสมและป้องกันกรณีน้ำล้นหรือเขื่อนชำรุดเสียหายได้ล่วงหน้าด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก - ดินถล่มในพื้นที่ 3 จังหวัด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (16 ส.ค.65) ว่า มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนสูงสุดบริเวณ จ.จันทบุรี 160 มิลลิเมตร , กรุงเทพมหานคร 144 มิลลิเมตร และอุทัยธานี 138 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก - ดินถล่ม บริเวณ จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน และน่าน แล้วยังเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงบริเวณริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นประมาณ 1 – 2 เมตรอย่างฉับพลันถึงวันที่ 18 สิงหาคมนี้ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 48,965 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 60 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักฯ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล บางพระ และบึงบอระเพ็ด

ทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมชลประทาน ได้ติดตั้งและเดินเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ขนาด 8 นิ้ว ในอัตราระบายน้ำรวม 500 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง เพื่อเร่งระบายน้ำช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนบ้านเกาะกลาง ต.ป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่อง ทำให้ลำน้ำสาขาเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกิดน้ำท่วมขังสูงประมาณ 50 เซนติเมตร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 สิงหาคม 2565

เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ยังคงปรับการระบายน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณฝนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงวันที่ 16 - 20 สิงหาคมนี้ โดยใช้เกณฑ์การระบายน้ำต่ำสุดที่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงการติดตามแผนการบริหารจัดการน้ำและสถานการณ์น้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ว่า ปัจจุบันเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) อยู่ที่ 442 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ ซึ่งเขื่อนมีแผนการระบายน้ำเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับปริมาณฝนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงวันที่ 16 - 20 สิงหาคมนี้ โดย สทนช.ได้เน้นย้ำช่วงมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา จนกระทั่งปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ควบคุมภายในวันที่ 25 สิงหาคม ทั้งนี้ ต้องมีการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำป่าสักในระดับที่เหมาะสมให้เกิดผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนให้น้อยที่สุด รวมถึง วางระบบการแจ้งเตือนให้พื้นที่เสี่ยงให้รับทราบล่วงหน้าและทั่วถึง โดยใช้เกณฑ์การระบายน้ำต่ำสุดที่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีที่ส่งผลกระทบกับพื้นที่เสี่ยงในปี 2564 รวม 15 จุดมาเป็นเกณฑ์การแจ้งเตือนประชาชน เพื่อขนย้ายสิ่งของล่วงหน้า เช่น ตลาดน้ำต้นตาล ต.ต้นตาล อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ที่เป็นจุดมีการรุกล้ำลำน้ำ // ตลาดน้ำพระยาทด ต.พระยาทด อ.เสาไห้ จ.สระบุรี // บ้านหนองกรด ต.หนองบัว อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ขณะเดียวกันอัตราการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะต้องพิจารณาถึงปริมาณน้ำที่จะมีการระบายจากเขื่อนเจ้าพระยาร่วมด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 สิงหาคม 2565

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นการคิกออฟขับเคลื่อนโครงการพืชเศรษฐกิจใหม่สาหร่าย : อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่เพชรบุรีเป็นจังหวัดแรก เพื่อสร้างอาชีพเพิ่มรายได้เกษตรกร โดยกรมประมงซึ่งมีภารกิจตามกฎหมายรับผิดชอบสัตว์น้ำและพืชน้ำเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารโครงการ ซึ่งจังหวัดเพชรบุรีมีศักยภาพมากสำหรับการพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบการขับเคลื่อนโครงการสาหร่าย อาหารแห่งอนาคตและจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของประเทศ

เนื่องจากปัจจุบันการผลิตสาหร่ายทะเลเติบโตอย่างรวดเร็ว มีผลผลิตทั้งหมดทั่วโลกในปี 2562 ไม่น้อยกว่า 35 ล้านตัน มีมูลค่ารวมของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท โดยประเทศไทยมี 22 จังหวัดติดทะเลมหาสมุทรเหมาะกับสาหร่ายทะเล และ 28 จังหวัด บนบกสามารถเพาะเลี้ยงสาหร่ายน้ำจืด ทั้งนี้ นโยบายสาหร่ายพืชแห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต (Future Food) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งยกระดับอัพเกรดภาคเกษตรของไทยสู่เกษตรมูลค่าสูง เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพเพิ่มรายได้ใหม่ให้เกษตรกรและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง รวมทั้งตอบโจทย์วาระเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน เพื่อเป็นส่วนร่วมในทศวรรษวิทยาศาสตร์มหาสมุทรแห่งสหประชาชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และการลดภาวะโลกร้อนจากผลกระทบของก๊าซเรือนกระจก จึงดำเนินการสนับสนุนส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสาหร่ายเป็นอาหารแห่งอนาคตตัวใหม่ เนื่องจากมีศักยภาพที่จะนำไปใช้ในอาหาร อาหารเสริม อาหารสัตว์ ปุ๋ย เชื้อเพลิงชีวภาพ เวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง เซรั่มชะลอความแก่ เป็นต้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักก่อนหน้านี้ ขณะที่กรมชลประทานได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อาจกระทบประชาชนนอกแนวคันกั้นน้ำ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (13 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนลดลงแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.พะเยา 187 มิลลิเมตร , เชียงใหม่ 183 มิลลิเมตร และเชียงราย 108 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่ประสบอุทกภัยบริเวณ จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ นครพนม เลย ปราจีนบุรี ภาพรวมปัจจุบัน จ.เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พะเยา น่าน และพิษณุโลก ยังคงเกิดอุทกภัยอยู่ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 47,971 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 58 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล บางพระ และบึงบระเพ็ด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน ระดับน้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) ปรับการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยให้กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อัตราอยู่ระหว่าง 1,100 - 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ให้สอดคล้องกับ

การคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาช่วงนี้จะเกิดฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคเหนือ ทั้งนี้ คาดการณ์ปริมาณน้ำช่วงนี้บริเวณสถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอัตราประมาณ 1,100 - 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนที่แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 ประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และลำน้ำสาขา อัตราประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 1,400 - 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จำเป็นต้องระบายน้ำเพิ่มขึ้นในอัตราระหว่าง 1,100 - 1,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20 - 60 เซนติเมตร อาจส่งผลกระทบต่อชุมชน บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 สิงหาคม 2565

กรมทรัพยากรธรณี ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้หลายจังหวัด จากฝนตกหนักต่อเนื่อง

ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้ออกประกาศขอให้อาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณีและประชาชนทั่วไปเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ในพื้นที่จังหวัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย น่าน ตาก พะเยา แพร่ ลำพูน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี เลย จันทบุรี และตราด พร้อมเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 12 - 13 สิงหาคมนี้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มอำเภอเมือง ปาย ขุนยวม แม่สะเรียง ปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน // อำเภอเมือง หางดง แม่อาย เชียงดาว กัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ // อำเภอเมือง ขุนตาล แม่สรวย แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย จังหวัดเชียงราย // อำเภอบ่อเกลือ เฉลิมพระเกียรติ ท่าวังผา ปัว ทุ่งช้าง เชียงกลาง จังหวัดน่าน // อำเภอแม่สอด ท่าสองยาง แม่ระมาด จังหวัดตาก อำเภอเมือง เด่นชัย ลอง วังชิ้น ร้องกวาง จังหวัดแพร่ // อำเภองาว ห้างฉัตร เสริมงาม เมืองปาน จังหวัดลำปาง // อำเภอน้ำปาด ท่าปลา ลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ // อำเภอชาติตระการ วังทอง จังหวัดพิษณุโลก // อำเภอหล่มสัก หล่มเก่า ชนแดน เมือง จังหวัดเพชรบูรณ์ // อำเภอทองผาภูมิ สังขละบุรี ไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี // อำเภอภูกระดึง ด่านซ้าย นาแห้ว วังสะพุง จังหวัดเลย // อำเภอขลุง มะขาม เขาคิชฌกูฏ โป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี และอำเภอเกาะช้าง บ่อไร่ เขาสมิง จังหวัดตราด เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องและวัดปริมาณน้ำฝนได้มากกว่า 150 มิลลิเมตรต่อวัน ประกอบกับ บางพื้นที่เริ่มมีน้ำป่าไหลหลากและการเลื่อนไถลของดินและหินแล้ว อาจส่งผลให้เกิดดินถล่มได้

ทั้งนี้ ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ช่วงวันที่ 13 - 18 สิงหาคมนี้ หลังเกิดฝนตกหนักจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “มู่หลาน”

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ฉบับที่ 27 หลังติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงพบพายุโซนร้อน “มู่หลาน” บริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ได้อ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อเวลา 07.00 น. บริเวณเมืองลางซอนประเทศเวียดนาม คาดว่า จะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง ประกอบกับ มีร่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมา ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลุ่มน้ำโขง จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องช่วงวันที่ 13 - 18 สิงหาคมนี้ ทั้งนี้ กอนช.ยังได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงพบสถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 9.01 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 13 – 14 สิงหาคม ประมาณ 80 เซนติเมตร – 1.20 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง // สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 7.34 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 13 - 16 สิงหาคม ประมาณ 1 – 1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง // สถานีหนองคาย จังหวัดหนองคาย ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 6.40 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 14 - 17 สิงหาคม ประมาณ 1 – 1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง // สถานีนครพนม จังหวัดนครพนม ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่ง 5.55 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 14 - 17 สิงหาคม ประมาณ 1 – 1.50 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง // ตั้งแต่สถานีมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร จนถึงสถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่งเฉลี่ย 5.65 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 15 - 18 สิงหาคม ประมาณ 80 เซนติเมตร – 1 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังขอให้จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี แจ้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมบริเวณแม่น้ำโขงและผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าวต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและเตรียมเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักตอนบนของประเทศและภาคตะวันออก พร้อมเฝ้าระวังแม่น้ำป่าสักและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (10 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกต่อเนื่อง และในภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน 70 มิลลิเมตร , อุบลราชธานี 99 มิลลิเมตร และกาญจนบุรี 39 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 47,042 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 57 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล และบึงบอระเพ็ดทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เทศบาลนครแม่สอด และ อบต.แม่ปะ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง และขนาด 6 นิ้ว 1 เครื่อง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่หลังจากเกิดฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชนและผิวการจราจรในพื้นที่บ้านร่วมใจพัฒนา 10 ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด ระดับน้ำท่วมสูง 50 เซนติเมตร

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังแม่น้ำป่าสักและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ระดับน้ำจะลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งวันที่ 12 สิงหาคม โดยปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลหลากมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ส่วนระดับน้ำทะเลหนุนสูงพบแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ ช่วงวันที่ 10 - 16 สิงหาคม เวลาประมาณ 18.00 - 21.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง คาดช่วงดังกล่าว ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.80 - 2.10 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำป่าสักและผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 4 แห่ง คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา และป่าสักชลสิทธิ์ เบื้องต้นกรมชลประทานได้ปรับการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยจะทยอยเพิ่มการระบายน้ำขึ้นจากอัตรา 80 – 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.