• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 สิงหาคม 2565

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ที่ให้กรมชลประทาน ประเมินประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำล่วงหน้าในทุกพื้นที่ โดยคาดคะเนจากสถานการณ์น้ำในช่วงเวลาที่ผ่านมา เพื่อให้บริหารจัดการน้ำได้อย่างต่อเนื่องและพร้อมรับน้ำในทุกพื้นที่ รวมถึงบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดผลกระทบบริเวณท้ายน้ำให้น้อยที่สุด ตลอดจนบูรณาการการทำงานร่วมกับ สทนช. ในการบริหารจัดการน้ำและจัดทำแผนภาพการระบายน้ำอย่างมีระบบ นั้น

กรมชลประทาน จึงได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยใช้เขื่อนเจ้าพระยาในการควบคุมการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อน ควบคู่ไปกับการใช้อาคารชลประทานและประตูระบายน้ำที่เชื่อมต่อกันในพื้นที่อย่างเป็นระบบ รวมทั้งเฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนอย่างใกล้ชิด นำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์และเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ตรวจสอบความมั่นคงและความพร้อมของอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ จัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือพร้อมช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชนถึงสถานการณ์น้ำให้รับรู้รับทราบอย่างทั่วถึง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  31 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมระวังปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมปรับลดการระบายน้ำลงลดผลกระทบท้ายเขื่อนเจ้าพระยา

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (31 ก.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งและมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.บึงกาฬ 120 มิลลิเมตร , อุตรดิตถ์ 115 มิลลิเมตร และนราธิวาส 95 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,149 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง ทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เร่งเจาะแก้ไขบ่อน้ำบาดาลและสูบทดสอบปริมาณน้ำในโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม ประจำปี 2565 ในพื้นที่บ้านดงลาน หมู่ที่ 5 ต.วังจันทร์ อ.สามเงา จ.ตาก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามสถานการณ์น้ำและเตรียมพร้อมรับมือในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 993 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.08 เมตร มีแนวโน้มลดลง และได้ควบคุมปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้ทยอยปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเหลือประมาณ 850 ลูกบาศก์เมตรวินาที ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงในระยะต่อไป ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำด้วยการควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา พร้อมขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมระบบระบายน้ำ 2 ส่วน ประกอบด้วย ระบบคลองและระบบอุโมงค์ระบายน้ำ เป็นทางด่วนน้ำที่อยู่ในระดับ - 30 เมตร พร้อมอาคารรับน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกสามารถรับน้ำได้ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมระบายน้ำทั้งสองฝั่งเกือบ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยต้องดึงน้ำผ่านคลองย่อยไปยังคลองหลักจนถึงประตูระบายน้ำ ซึ่งกั้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาแล้วต้องสูบระบายออก และได้เพิ่มประสิทธิภาพของปั๊ม พร้อมขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งกรุงเทพมหานครจะปรับปรุงประสิทธิภาพคลอง ปรับปรุงประตูน้ำ ปรับปรุงระบบปั๊ม ปรับปรุงการลอกคลอง การเก็บขยะ และสร้างอุโมงค์ เพื่อให้ระบบระบายน้ำสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 กรกฎาคม 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุ ปีนี้มีเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าป่าเสียชีวิต 19 รายจากการปฏิบัติหน้าที่ปกป้องรักษาผืนป่า พร้อม ยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน สวัสดิการ และเทคโนโลยีทันสมัย เนื่องในวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day)

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เปิดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (World Ranger Day) ประจำปี 2565 ตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครนายก เพื่อรำลึกถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเห็นความสำคัญการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่า ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีผู้พิทักษ์ป่ากว่า 20,000 คน ที่ต้องดูแลรักษาพื้นที่ป่าไม้ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางทะเล และชายฝั่งของประเทศไทยกว่า 102 ล้านไร่ ที่มีอันตรายอยู่รอบด้านและต้องดูแลพื้นที่ป่าเฉลี่ยต่อคนกว่า 20,000 ไร่ ควบคู่กับพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มกำลังในงานปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ พร้อมความเชื่อมั่นในความรู้ ความสามารถ และความภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า จึงเน้นย้ำเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ต้องมาก่อน โดยปีนี้มีเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าเสียชีวิต 19 ราย จากการปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยอันตรายรอบด้าน ซึ่งกรมอุทยานฯมีกองทุนสวัสดิการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชให้การดูแลเจ้าหน้าที่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวของผู้เสียชีวิตอย่างดี ทั้งสวัสดิการและการดูแลเจ้าหน้าที่พร้อมครอบครัว

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า การออกปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนจะต้องผ่านการฝึกฝน ผ่านการทดสอบทักษะอย่างมากมายเพื่อสามารถดูแลตนเองและเพื่อนร่วมทีมได้ ที่สำคัญต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติและป้องกันผู้กระทำความผิดกฎหมายที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ป่า พร้อมนำเทคโนโลยีทันสมัยมาช่วยปฏิบัติงานให้เป็นระบบและมีมาตรฐาน ซึ่งการใช้ระบบลาดตะเวนเชิงคุณภาพ หรือ Smart Patrol จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ โดยเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติหน้าที่เป็นเหมือนนักวิจัย เก็บภาพ และนำข้อมูลต่างๆมาวิเคราะห์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 กรกฎาคม 2565

รองอธิบดีกรมชลประทาน ยืนยัน น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง พร้อมมั่นใจแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมขอให้ประชาชนติดตามการแจ้งเตือนอย่างใกล้ชิด

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากปริมาณฝนที่ตกลงมาในช่วงในช่วงวันที่ 20-24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปริมาณฝนไหลจากลุ่มน้ำน่านและลุ่มน้ำปิง ไหลลงมารวมกันที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยปัจจุบันแนวโน้มและอัตราการไหลของน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม ขณะที่เขื่อนกักเก็บน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้ำภาพรวมอยู่ที่ 43,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 57 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกว่า 3,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาใน 4 เขื่อนหลัก โดยตอนบนจะกักน้ำให้มากที่สุด ตอนกลางจะหน่วงน้ำ และตอนปลายจะเร่งระบาย

สำหรับเขื่อนเจ้าพระยาถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการบริหารจัดการน้ำ โดยจะผันน้ำไปยังฝั่งตะวันตก ได้แก่ แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย และฝั่งตะวันออก ที่คลองชัยนาท-ป่าสัก ซึ่งสามารถผันน้ำโดยไม่ผ่านกรุงเทพมหานคร อีกทั้งมีการเฝ้าระวังหากปริมาณน้ำที่จุดวัดน้ำที่บางไทรปริมาณเกิน 1,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะเปิดประตูคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเร่งการระบายน้ำได้ทันที

อย่างไรก็ตาม สำหรับปริมาณน้ำไหลผ่านจากจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ยังรับน้ำไหลผ่านได้ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปัจจุบันน้ำไหลผ่านแค่ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังถือว่าปกติแต่จะมีน้ำท่วมขังบ้างที่พื้นที่รับน้ำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามการแจ้งเตือนน้ำอย่างใกล้ชิด เพราะหากมีการระบายน้ำจะมีการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น 1.24 เมตร พร้อมคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จึงต้องให้พื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขงเฝ้าระวังเป็นพิเศษ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง ฉบับที่ 23 หลังพบระดับน้ำที่สถานีจิ่งหง สาธารณรัฐประชาชนจีน ช่วงวันที่ 27 - 28 กรกฎาคม เพิ่มขึ้น 1.24 เมตร หรือมีปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มขึ้น 1,090 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบกับ คาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตอนล่าง จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม - 8 สิงหาคม จึงได้ติดตามและคาดการณ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงพบสถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันระดับน้ำ 3.22 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 9.58 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม ประมาณ 1 – 1.2 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง // สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ปัจจุบันระดับน้ำ 5.59 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 7.41 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ช่วงวันที่ 2 - 3 สิงหาคม ประมาณ 0.8 – 1.2 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง // ตั้งแต่สถานีหนองคาย จังหวัดหนองคายจนถึงสถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าระดับตลิ่งเฉลี่ย 6.5 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น ช่วงวันที่ 5 - 8 สิงหาคม ประมาณ 0.8 – 1.2 เมตร แต่ยังคงต่ำกว่าระดับตลิ่ง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ขอให้จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี แจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจร ประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง และผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าวติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง พร้อมน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องถึงวันที่ 28 กรกฎาคมนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (27 ก.ค.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนฟ้าคะนองลดลง ส่วนภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ยะลา 88 มิลลิเมตร , สุราษฎร์ธานี 79 มิลลิเมตร และกระบี่ 78 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 45,905 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง ทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่าง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาต่อเนื่องถึงวันที่ 28 กรกฎาคมเป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับ ในพื้นที่ตอนบนมีฝนเพิ่มมากขึ้น จึงให้กรมชลประทานด้วยการผันน้ำเข้าระบบคลองฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกเพิ่มเติมแล้ว โดยกรมชลประทานจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,000 - 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ช่วงดังกล่าวระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.10 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงกลางคืนวันที่ 28 กรกฎาคม – 1 สิงหาคมนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงกลางคืนวันที่ 28 กรกฎาคม – 1 สิงหาคมนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ฉบับที่ 22 เนื่องจากพบสภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียงช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม – 1 สิงหาคมนี้ เวลาประมาณ 19.00 - 22.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับ กรมชลประทานได้ประกาศแจ้งการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,000 – 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น คาดการณ์ว่าช่วงดังกล่าวระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.90 – 2.10 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงอาคารป้องกันริมแม่น้ำและเสริมคันบริเวณจุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำทราบล่วงหน้า และปรับแผนบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 กรกฎาคม 2565

กรมชลประทาน เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง หลังฝนตกติดต่อกันหลายวัน พร้อมบริหารจัดการน้ำตามเกณฑ์ ลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ว่า ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 42,776 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่าง ยังสามารถรับน้ำได้อีก 33,308 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำรวมกัน 10,274 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่าง สามารถรับน้ำได้อีก 14,597 ล้าน ลบ.ม. และเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมามีฝนตกในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มมากขึ้น

กรมชลประทาน ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งประกาศแจ้งเตือนถึงสถานการณ์น้ำให้ประชาชนที่อาจจะได้รับผลกระทบได้รับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่อง ทำให้การบริหารจัดการน้ำยังคงเป็นไปตามแผน ทั้งนี้ จากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 25-28 กรกฏาคมนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทย ในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 29-31 กรกฏาคมนี้ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักถึงหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้

จึงได้กำชับให้โครงการชลประทาน และสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่เสี่ยง ให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำตามเกณฑ์ที่กำหนด รวมทั้งพิจารณาปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ ใช้ระบบโทรมาตรมาช่วยในแจ้งเตือนประชาชนก่อนการระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำจากทางหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.