สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 11 พฤศจิกายน 2565
ประเทศไทย เตรียมรายงานแผนความสำเร็จการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะยาว ต่อที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) หลังไทยปรับเป้าลดก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 40 ภายในปี 2030
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ณ เมืองชาร์ม-เอล-เชค สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ครั้งนี้เป็นการรวมสุดยอดผู้นำมาร่วมหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในส่วนของประเทศไทยจะนำเสนอแผนจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระยะยาว ระหว่างปี 2050 - 2065 เพราะไทยจะก้าวสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 จะช่วยสร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มสำหรับการลงทุนที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งไทยได้ออกมาตรการและดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังมาโดยตลอด อย่างเช่นแผนการสร้างคาร์บอนเครดิตในไทย ด้วยการปลูกป่าให้ได้ร้อยละ 40 เพื่อเพิ่มศักยภาพการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 120 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ ไทยจะรายงานผลการดำเนินงานการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด ฉบับปรับปรุง ครั้งที่ 2 (NDC) ที่ได้แก้ไขเป้าหมายในระยะสั้นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวฯ ฉบับปรับปรุง โดยเฉพาะปรับเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 40 จากกรณีปกติ ภายในปี 2030
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้น แต่กลับพบว่าไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นสาเหตุที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดตั้งแต่วันนี้ ซึ่งหากไม่เริ่มต้นทำอย่างจริงจัง ไทยจะต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างไม่มีที่สิ้นสุด