• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง พร้อมระวังปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางเพิ่มสูงขึ้นจนเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 พฤศจิกายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 4 จังหวัด หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง พร้อมระวังปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางเพิ่มสูงขึ้นจนเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (12 พ.ย.65) ว่า ภาพรวมพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.สงขลา , ยะลา และปัตตานี แล้วมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตร ทำให้ กอนช. ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังช่วงวันที่ 13 – 16 พฤศจิกายนนี้ ใน จ.พัทลุง บริเวณ อ.บางแก้ว เขาชัยสน ปากพะยูน เมืองพัทลุง ป่าบอน และควนขนุน // สงขลา บริเวณ อ.สิงหนคร ระโนด กระแสสินธุ์ เมืองสงขลา จะนะ ควนเนียง และสทิงพระ // ยะลา บริเวณ อ.ธารโต กาบัง ยะหา บันนังสตา และเบตง และปัตตานี บริเวณ อ.ยะหริ่ง พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำโกลก แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี รวมทั้ง เขื่อนบางลาง มีแนวโน้มปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ จึงให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,068 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนเจ้าพระยาปริมาณน้ำไหลผ่าน 861 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแนวโน้มลดลง ส่วนสถานการณ์น้ำ จ.อุบลราชธานี ที่สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,902 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแนวโน้มลดลง คาดว่า ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้จะกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,866 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 76


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.