• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังเสี่ยงน้ำหลากในพื้นที่ 27 จังหวัด และเร่งช่วยเหลือประชาชนประสบอุทกภัยใน 3 จังหวัด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (16 ก.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.น่าน 91 มิลลิเมตร , ตราด 71 มิลลิเมตร และอุบลราชธานี 67 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่มถึงวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ บริเวณจ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง น่าน ตาก พะเยา อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี เลย ชัยภูมิ นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา กระบี่ และตรัง ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 44,390 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 54 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามสถานการณ์และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมจังหวัดร้อยเอ็ด เพชรบูรณ์ และอุบลราชธานี คือ จ.ร้อยเอ็ด อ.โพนทอง บริเวณบ้านหนองบุ่ง ค.โคกกกม่วง พื้นที่ประมาณ 60 ไร่ และ อ.เสลภูมิ บริเวณบ้านหนองผักตบ ต.เหล่าน้อย บ้านนาทม ต.ภูเงิน พื้นที่ประมาณ 300 ไร่ โดยกรมชลประทานเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำ 25 เครื่อง กระสอบบรรจุทราย 12,000 กระสอบ และเครื่องจักร - เครื่องมืออื่นๆ พร้อมบุคลากรเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะบริเวณตลอดแนวพนังกั้นลำน้ำยัง // จ.เพชรบูรณ์ ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ อ.หล่มสัก ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักเพิ่มสูงขึ้น และมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตร ต.สักหลง โดยโครงการชลประทานเพชรบูรณ์สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 8 นิ้ว 2 เครื่อง ช่วยเหลือพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่ จ.อุบลราชธานี เกิดฝนตกหนักทำให้น้ำท่วมถนนในเขตเทศบาลนคร อ.เมือง น้ำท่วมขังพื้นผิวการจราจรหลายเส้นทางความเสียหายอยู่ระหว่างสำรวจ เบื้องต้นไม่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือแล้ว ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว ทั้งนี้ กอนช.ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำตามศักยภาพ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนทราบต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนให้ได้มากที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 กรกฎาคม 2565

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดสวนสัตว์ให้เด็กเข้าฟรีทั่วประเทศ ภายใต้มาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด (Zoo Safe Zone) เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2565

นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดกิจกรรม “เปิดสวนสัตว์ให้เด็กเข้าฟรีทั่วประเทศ” ของสวนสัตว์ในสังกัด เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2565 สำหรับเด็กที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร เพื่อสร้างความสุข สนุกสนาน และเข้ามาสัมผัสกิจกรรมสร้างองค์ความรู้ต่างๆ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด พร้อมได้จัดซุ้มลงนามถวายพระพรและกิจกรรมที่น่าสนใจไว้รองรับนักท่องเที่ยว คือ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชมความน่ารักของ “มะลิ” แม่ฮิปโปโปเตมัส ช้างว่ายน้ำ เพนกวินพาเลซ และพบกับสมาชิกใหม่ลูกตัวกินมดยักษ์และลูกสมเสร็จ และชมสัตว์ป่ายามค่ำคืน Khao kheow Night Zoo // สวนสัตว์เชียงใหม่ พบความน่ารักของสัตว์ในเอเชีย หมีโคอาล่า หมีแพนด้า จิงโจ้แดง เพนกวินเล่น แพนด้า โคอาล่า สิงโตขาว ช้างไทย และนั่งรถกอล์ฟชมสวนกลางธรรมชาติสุดฟิน // สวนสัตว์นครราชสีมา พบกิจกรรม Keeper Talk // สวนสัตว์สงขลา พบกับส่วนแสดงสัตว์ป่าหายาก ช้าง สมเสร็จ และส่วนจัดแสดงความสามารถสัตว์ แหล่งเพาะพันธุ์นกเงือกและเต่าหกเหลือง

ขณะที่ สวนสัตว์อุบลราชธานี ชมความงดงามของ “ทุ่งดอกเทียน” หนึ่งเดียวของโลก ที่หาชมได้ยาก และกิจกรรมทัวร์หลังบ้านเดินทางด้วยรถกอล์ฟ กิจกรรม Zoo Keeper ส่งเสริมพฤติกรรมสัตว์ (Enrichment) // สวนสัตว์ขอนแก่น พบกิจกรรม One Day Trip ชมสัตว์แบบ 360 องศา เปิดประสบการณ์ใหม่สัมผัสสัตว์อย่างใกล้ชิด ชมลูกยีราฟ // โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ ชวนนักเที่ยวเปิดประสบการณ์ใหม่นั่งช้างชมไพร อาบน้ำช้างที่ลำน้ำชี เป็นสถานที่แห่งเดียวในภาคอีสานที่มีความสวยงาม มีช้างแสนรู้รอให้บริการนักท่องเที่ยวและชมวิถีช้างกว่า 200 เชือก โดยเปิดจองล่วงหน้าก่อน 1-2 วัน

ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวย้ำว่า ได้ให้สวนสัตว์ในสังกัดทุกแห่งรักษามาตรการด้านความปลอดภัยสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวชมสวนสัตว์ในทุกๆด้านอย่างเคร่งครัด จึงขอให้มั่นใจสถานที่มีความปลอดภัยสูงสุด เพราะเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อยู่กลางแจ้ง ที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวยังสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมอุปถัมภ์สัตว์ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาได้ด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 กรกฎาคม 2565

กรุงเทพมหานคร เดินหน้าแก้ไขปัญหากลิ่น ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช พร้อมชวนประชาชนมีส่วนร่วมติดตามการทำงาน

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่โครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน เพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตัน/วัน ณ ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช เขตประเวศ ว่า เบื้องต้นบริษัทกรุงเทพธนาคม หรือ KT ได้ติดตั้งม่านอากาศในอาคารรับขยะ และอาคารเก็บขยะเชื้อเพลิง (RDF) เพื่อลดกลิ่นให้น้อยลง ขณะที่โดมอาคารรับขยะได้ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนขยะที่รถบรรทุกนำเข้ามาเทแล้ว จะมีรถไถขยะลงในหลุมรับขยะทั้งหมด จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนของถังหมัก ซึ่งจะมีปริมาณของกลิ่นมากที่สุด ทาง KT ได้ติดตั้งเครื่องดูดอากาศเพื่อแก้ไขกลิ่นจำนวน 14 ตัว

ทั้งนี้ จะมีระบบ 3 ใหม่ที่เพิ่มเข้ามาช่วยแก้ปัญหา คือ ม่านอากาศ ระบบบำบัดกลิ่น และเครื่องวัดกลิ่น รวมถึงปลูกต้นไม้เพิ่มเติมบริเวณทางเข้าและพื้นที่โดยรอบ นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อมได้มีหนังสือถึงประธานหมู่บ้านอิมพีเรียลพาร์ค และหน่วยงานราชการ (กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักอนามัย สำนักงานเขตประเวศ) เพื่อขอรายชื่อผู้แทนหมู่บ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการติดตามตรวจสอบการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโรงงานกำจัดมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงาน ขนาดไม่น้อยกว่า 800 ตัน/วัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอรายชื่อผู้แทนดังกล่าว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังเสี่ยงน้ำหลากในพื้นที่ 22 จังหวัดถึงวันที่ 15 กรกฎาคมนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (13 ก.ค.65) ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ โดยช่วงวันที่ 13 - 14 กรกฎาคม ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น แล้วมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ตราด 196 มิลลิเมตร , นครราชสีมา 127 มิลลิเมตร และระนอง 127 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากถึงวันที่ 15 กรกฎาคม บริเวณ จ.พะเยา ลำปาง แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา อุบลราชธานี ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพังงา ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 43,888 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 53 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง ทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งสำรวจความเหมาะสมการก่อสร้างโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่ อการเกษตรแปลงใหญ่พื้นที่ 300 ไร่ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเพื่อการเกษตร บริเวณพื้นที่ ต.ช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน จากฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.ชัยภูมิ มีฝนตกหนักในพื้นที่มากกว่า 100 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังในตัวเมืองชัยภูมิ โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและเทศบาลเมืองชัยภูมิเร่งสูบระบายน้ำออกจากผิวจราจรลงสู่ลำห้วยเสว ส่วนกรมชลประทานได้ติตตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ พร้อมบริหารจัดการน้ำผ่านประตูระบายน้ำด้านเหนือเขตตัวเมือง ด้วยการผันน้ำเลี่ยงเมืองชัยภูมิไปทาง ต.โพนทอง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว // จ.ระนอง มีฝนตกหนักในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม ส่งผลให้ระดับน้ำในคลองลำเลียงเพิ่มขึ้นเข้าท่วมผิวถนนชุมชนบ้านสองแพรก ต.ลำเลียง อ.กระบุรี ปัจจุบันกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำลงคลองลำเลียง และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่เพิ่มเติม 1 เครื่อง คาดว่า จะเข้าสู่ภาวะปกติภายในวันนี้ (13 ก.ค. 65)


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังเสี่ยงน้ำหลากในพื้นที่ 24 จังหวัด ช่วงวันที่ 12 - 15 กรกฎาคม

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (12 ก.ค.65) ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยช่วงวันที่ 12 - 14 กรกฎาคมประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ตราด 163 มิลลิเมตร , ชัยภูมิ 128 มิลลิเมตร และชุมพร 111 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากช่วงวันที่ 12 - 15 กรกฎาคม บริเวณ จ.พะเยา ลำปาง แพร่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย สกลนคร ยโสธร ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา อุบลราชธานี กาญจนบุรี ตราด ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพังงา ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 43,773 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 53 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง

ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมเจ้าท่าได้เร่งขุดลอกและกำจัดวัชพืช เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ บริเวณแม่น้ำจาง ต.น้ำโจ้ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ระยะทาง 850 เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 1,800 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 500 ครัวเรือน และบริเวณแม่น้ำปากบางสะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ระยะทาง 710 เมตร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 กรกฎาคม 2565

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันทั้งสิ้น 16,836 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 32 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

ด้านแผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูฝนปีนี้ ทั้งประเทศจัดสรรน้ำไปแล้ว 9,983 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ และปัจจุบันปริมาณฝนตกเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังคงจำเป็นต้องระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกพืชในลุ่มเจ้าพระยา โดยพิจารณาปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและการใช้น้ำของพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเป็นหลัก สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั้น กรมชลประทานได้ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด วางแผนบริหารจัดการน้ำภายในลุ่มน้ำอย่างเชื่อมโยงกัน รวมทั้งปรับการระบายน้ำในอ่างเก็บน้ำและระหว่างทุ่งต่อทุ่ง ให้เป็นไปตามเกณฑ์ รวมไปถึงพร่องน้ำในคลองสาขาต่างๆ เพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน ตลอดจนตรวจสอบอาคารชลประทาน ประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 พร้อมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงภาพรวมของแต่ละลุ่มน้ำเป็นหลัก เพื่อให้สามารถลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 22 จังหวัดช่วงวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม พร้อมระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ฉบับที่ 20 หลังกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ช่วงวันที่ 10 – 14 กรกฎาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทยและอ่าวไทย ประกอบกับ ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เบื้องต้นได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันจึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงเพิ่มเติมช่วงวันที่ 11 – 15 กรกฎาคม คือ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังในภาคเหนือ บริเวณอำเภอเชียงคำ ปง และภูซาง จังหวัดพะเยา , อำเภองาว แจ้ห่ม เมืองปาน และวังเหนือ จังหวัดลำปาง , อำเภอร้องกวาง วังชิ้น และสอง จังหวัดแพร่ , อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก , อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ วิเชียรบุรี และหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์

ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณอำเภอด่านซ้าย และปากชม จังหวัดเลย , อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู , อำเภอกุมภวาปี ทุ่งฝน นายูง น้ำโสม บ้านดุง บ้านผือ พิบูลย์รักษ์ เพ็ญ วังสามหมอ สร้างคอม และหนองหาน จังหวัดอุดรธานี , อำเภอท่าบ่อ เฝ้าไร่ โพธิ์ตาก โพนพิสัย เมืองหนองคาย รัตนวาปี สระใคร และสังคม จังหวัดหนองคาย , อำเภอกุดบาก คำตากล้า เจริญศิลป์ นิคมน้ำอูน บ้านม่วง ภูพาน วานรนิวาส วาริชภูมิ ส่องดาว และอากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร , อำเภอกุดชุม ทรายมูล ป่าติ้ว เมืองยโสธร และเลิงนกทา จังหวัดยโสธร , อำเภอเทพสถิต หนองบัวแดง และเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ , อำเภอเขาสวนกวาง ชนบท เมืองขอนแก่น และอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น , อำเภอเขาวง คำม่วง นาคู สมเด็จ และสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ , อำเภอโพนทอง และหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด , อำเภอชานุมาน พนา เมืองอำนาจเจริญ ลืออำนาจ และหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ , อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา , อำเภอเขมราฐ โขงเจียม ตระการพืชผล ตาลสุม นาจะหลวย นาตาล พิบูลมังสาหาร โพธิ์ไทร ม่วงสามสิบ ศรีเมืองใหม่ และสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี // ภาคใต้ บริเวณอำเภอกระบุรี กะเปอร์ และเมืองระนอง จังหวัดระนอง , อำเภอ พะโต๊ะ และเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร , อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี , อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา

รวมทั้ง เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน บริเวณแม่น้ำน่านและลำน้ำสาขา แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำสงคราม ลำน้ำอูน ลำน้ำยาม และแม่น้ำตาปี พร้อมเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 2 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร , อ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำในภาคเหนือ บริเวณจังหวัดลำปาง น่าน และพะเยา , ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดเลย สกลนคร ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี , ภาคตะวันออก บริเวณจังหวัดตราด และภาคใต้ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ พร้อมตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ // วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำและระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 กรกฎาคม 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดึงอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) เป็นเครือข่ายแก้ปัญหาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปงสภาพภูมิอากาส ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดก๊าซเรือนกระจก และสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันการขับเคลื่อน การสร้างเสริมสุขภาพ และการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทยเน้นให้ความสำคัญกับการป้องกันมากกว่าการรักษา กระตุ้นให้ประชาชนปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำรงชีวิต การจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมให้เอื้อต่อการมีสภาวะสุขภาพสมบูรณ์ ที่เปลี่ยนจากมิติการรักษาโรคไปสู่มิติสร้างสุขภาวะ และการมีส่วนร่วมของเครือข่าย โดยสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อสุขภาวะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เดินแผนงานต่างๆ ทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ การรับมือต่อโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงสนับสนุนบทบาทภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเองในรูปแบบ “เครือข่ายอาสาสมัคร” ภาพรวมมีอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ที่มีครอบคลุมทั่วประเทศใน 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานครกว่า 270,000 คน รวมทั้ง ยังมีอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เครือข่ายผู้ใช้น้ำ อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย เครือข่ายป่าชุมชน อาสาสมัครพิทักษ์ป่า และอาสาสมัครพิทักษ์อุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ทั้งนี้ การจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุดจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และการป้องกันไม่ให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ แล้วยังเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในทุกปีด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า การพัฒนาประเทศสู่ความยั่งยืนต้องส่งเสริมทุนทางสังคม ภูมิปัญญา วัฒนธรรม และทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพคนในชุมชนให้มีศักยภาพ มีจิตสำนึกสาธารณะ และรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับส่งเสริมสิทธิชุมชนและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์บริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่น การสร้างรายได้เสริมความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน จากการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.