สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 25 ตุลาคม 2565
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำ บริหารจัดการน้ำฤดูฝนปีนี้เป็นไปตามแผนและได้ทยอยปรับลดการระบายน้ำเขื่อนต่างๆลง ภาพรวมฝนตกเฉลี่ยสะสมปีนี้น้อยกว่าปี 2554
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปีนี้ว่า ปีนี้ฝนตกเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 1,775 มิลลิเมตร น้อยกว่าปี 2554 โดยในพื้นที่ภาคกลางปีนี้ฝนตกเฉลี่ยสะสมอยู่ที่ 1,518 มิลลิเมตร มากกว่าปี 2554 เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจนเกิดฝนตกหนักและฝนตกชุกหลายพื้นที่จากอิทธิพลของร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านบริเวณภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ส่วนอิทธิพลจากพายุ 3 ลูกเป็นเพียงอิทธิพลทางอ้อม ซึ่ง กอนช. ได้บริหารจัดการตามเกณฑ์ความปลอดภัยของเขื่อนเจ้าพระยาด้วยการควบคุมระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันออก และลดการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เพื่อลดระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักชลสิทธิ์ก่อนลงสมทบแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้ง ลดการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตก แล้วเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่ในทุ่ง หรือบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำก่อนออกอ่าวไทย ควบคุมปริมาณน้ำ สถานี C.29A (บางไทร) ประมาณ 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นการบริหารความเสี่ยงปริมาณน้ำไม่เกิน 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
สำหรับสาเหตุที่ระบายน้ำออกทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกได้น้อยช่วงที่ผ่านมา พบเกิดจากปัญหาต้นคลองใหญ่ส่วนปลายคลองมีขนาดเล็ก โดยคลองชัยนาท – ป่าสัก มีความจุต้นคลอง 210 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และปลายคลอง 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งบริเวณปลายคลองมีน้ำท่วมอยู่แล้วจากปริมาณฝนตกในพื้นที่และมีปริมาณน้ำท่ามาเติม เนื่องจากมีการระบายน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เกิน 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จึงจำเป็นต้องเร่งระบายน้ำลงด้านท้ายของลุ่มน้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น ทำให้เกินศักยภาพของคันกั้นน้ำที่มีอยู่ในปัจจุบัน ส่งผลให้บางจุดเกิดน้ำล้นคลองและคันคลองขาดไม่สามารถใช้ควบคุมน้ำได้ แล้วยังพบปัญหาบางจุดที่ประชาชนในพื้นที่ไม่ยินยอมให้เสริมคันกั้นน้ำ ส่งผลให้น้ำหลากเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่มากขึ้น