• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 มิถุนายน 2565

ในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมานี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจ BCG ครั้งที่ 2/2565 โดยมี ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุม

โดยที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบการจัดทำแผนการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในภารกิจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ปฏิบัติการ ที่มีแนวทางการดำเนินงานในการจัดเก็บข้อมูลสถานะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ข้อมูลสถานการณ์มลพิษสิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ นำมารวบรวม และเชื่อมโยงพัฒนาฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม การลดขยะ ของเสีย และมลพิษสิ่งแวดล้อม การลดปริมาณคาร์บอนจากกิจกรรมในพื้นที่ ที่จะยกระดับและเพิ่มมูลค่าของการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อสร้างและกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนบนฐานทรัพยากร

ที่ประชุม ยังได้พิจารณาเห็นชอบ การคัดเลือกพื้นที่ปฏิบัติการ ได้แก่ อุทยานธรณีโลกสตูล พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาว พื้นที่สงวนชีวมณฑลระนอง พื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ป่าชุมชนภูปอบ้านนาอุดม และป่าชุมชนบ้านซับสะเดา เป็นพื้นที่นำร่องโครงการ รวมถึงพิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน ได้แก่ คณะทำงานวิชาการเพื่อพัฒนาแนวทางการประยุกต์ใช้มาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม คณะทำงานพัฒนาระบบฐานข้อมูลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะทำงานขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่ปฏิบัติการ

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับทราบงบประมาณภายใต้ (ร่าง) พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีโครงการที่ได้รับการจัดสรร จำนวน 32 โครงการ อาทิ โครงการส่งเสริมการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ โครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ จำนวน 117 แห่ง และโครงการจัดการป่าสงวนแห่งชาติ อีกด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 มิถุนายน 2565

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้วันที่ 3 เมษายนของทุกปี เป็น “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” เพื่อใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานในการร่วมดูแล รักษา ปกป้องทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

การใช้น้ำบาดาลเริ่มต้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีการเจาะน้ำบาดาลบ่อแรกของประเทศ ณ โรงพยาบาลเทียนหัว ย่านเยาวราช กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ วันที่ 3 เมษายน 2565 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 มิถุนายน 2565

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ พร้อมทบทวนกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี เพื่อปรับปรุงแผนให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันและการแก้ปัญหาด้านน้ำในเชิงพื้นที่

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการประชุมปฐมนิเทศ “โครงการศึกษาปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี” ร่วมกับหน่วยงานด้านน้ำและคณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำ โดยแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ดำเนินการมาแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงต้องประเมินผลต่อเนื่องนำไปสู่เป้าหมายของการดำเนินการ ซึ่งผลการประเมินในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาพบมีบางกลยุทธ์หรือแผนงานที่ยังไม่ได้ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและยังไม่ได้ขับเคลื่อน แล้วบางกลยุทธ์ต้องปรับปรุงแผนงาน เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่น สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานคืนถิ่นนำไปสู่ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ // ภาวะสงครามที่ทำให้เกิดวิกฤติอาหารโลกนำไปสู่ความต้องการพืชอาหารบางประเภทและการใช้น้ำที่มากขึ้นในบางพื้นที่ // การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำและภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดภัยพิบัติรุนแรงขึ้น ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และการรุกตัวของน้ำเค็ม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังไม่ได้บรรจุในแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปีเดิม จึงต้องปรับปรุงแผนใหม่ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศไทย

รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า กระบวนการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ครั้งนี้ เน้นกระบวนการ Co-Design และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อให้การปรับแผนตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง แล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปขับเคลื่อนสู่แผนปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ปัญหาด้านน้ำในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้นจากการอุปโภค-บริโภคน้ำสะอาด มีน้ำใช้สร้างรายได้ ลดความเสียหายจากภัยพิบัติด้านน้ำ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 มิถุนายน 2565

นายอรรถพล เจริญชันญา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยภายในงานสัมมนาวิชาการเผยแพร่ผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ประจำปีงบประมาณ 2563 ว่า ถือเป็นการผลักดันการใช้ประโยชน์จากการศึกษาวิจัย ตั้งแต่ปี 2563 ที่ได้มีการติดตามป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมทางน้ำ อากาศ และขยะสำหรับประเทศไทย รวมถึงมุ่งเน้นการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม การใช้วิทยาศาสตร์การวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการบูรณาการผลผลิตเพื่อให้เกิดความสำเร็จจากผลงานวิจัยและนวัตกรรมสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด จึงได้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆมาร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้

ด้าน รศ.ดร.นเรศ เชื้อสุวรรณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยถึงภาพรวมการศึกษาโดยใช้เครื่องมือและวิธีการมาตรฐานในการจัดเก็บตัวอย่างของฝุ่น PM2.5 ซึ่งได้มีการจัดเก็บในเขตพื้นที่ปริมณฑล 5 จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี และนครปฐม โดยพบว่า จังหวัดสมุทรสาครจะมีค่า PM2.5 สูงสุดในช่วงฤดูหนาว ขณะที่จังหวัดสมุทรปราการ ค่าฝุ่น PM2.5 จะสูงสุดในช่วงฤดูร้อนและฤดูฝน

ส่วน ผศ.ดร.สุรัตน์ บัวเลิศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยกรณีแหล่งกำเนิดของ PM2.5 เกิดจากฝุ่นบริเวณใกล้ผิวดิน จึงมีนโยบายในการจัดเก็บฝุ่นในชั้นบรรยากาศ โดยจะไม่มีการเข้าใกล้แหล่งกำเนิด หรือหลักเลี่ยงสถานที่ที่อันตราย ซึ่งมีการจัดเก็บตัวอย่างฝุ่นโดยนำมาส่องกล้องขนาดเล็ก เพื่อสังเกตลักษณะของฝุ่นเป็นอย่างไร อีกส่วนนำมาเผา หลังจากนั้นนำตัวอย่างฝุ่นมาวิเคราะห์เพื่อหาองค์ประกอบทางเคมี เช่น Organic Carbon, Elemental Carbon ไอออนที่ละลายน้ำและธาตุอื่นๆ สำหรับการทำ Source Profiles เพื่อหาสัดส่วนแหล่งที่มาของ PM2.5 รวมถึงสังเกตผลและนำกระบวนการที่ได้มาเป็นฐานข้อมูลเพื่อการวิจัยและหาวิธีการแก้ไขต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ ได้มีการนำเสนอความคิดเห็นและแนวทางการป้องกัน การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่แตกต่างกันออกไป แต่มีการเสนอผลลัพธ์ วัตถุประสงค์และผลการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 มิถุนายน 2565

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เร่ง ตรวจสอบไม้ของกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายจงคล้าย วรพงศธร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบไม้ของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ได้ร่วมกันตรวจสอบไม้ของกลางที่อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งไม้ของกลางในคดีถึงที่สุดแล้วและไม้ของกลางที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดี เพื่อให้การจัดการกับไม้ของกลางในคดีความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทางราชการ ซึ่งจากการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานแปรรูปไม้ของกลางที่ตรวจยึดในคดีความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ที่คดีถึงที่สุดแล้วบริเวณส่วนอุตสาหกรรมไม้วังน้อย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พบไม้ทั้งหมด คือ ไม้สัก ไม้พะยูง ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้มะค่าโมง ไม่ชิงชัน และไม้ชนิดอื่นๆที่เข้ามามีความสมบูรณ์ประมาณร้อยละ 50 เมื่อทำการแปรรูปแล้วจะได้ผลผลิตเป็นไม้แปรรูปประมาณร้อยละ 20 ที่เหลือจะกลายเป็นเศษไม้ ปีกไม้ เศษหัวไม้ตัด และขี้เลื่อยขี้กบ แบ่งเป็น ไม้ของกลางที่คดีสิ้นสุดแล้วปริมาณรวม 50,470 ท่อนต่อแผ่นต่อเหลี่ยม รวมปริมาตรกว่า 5,776 ลูกบาศก์เมตร และไม้ของกลางที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีปริมาณรวม 61,744 ท่อนต่อแผ่นต่อเหลี่ยม รวมปริมาตรกว่า 2,548 ลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ คณะกรรมการฯจะจัดทำข้อมูลและสรุปรายงานเสนอปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับทราบต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 มิถุนายน 2565

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังอ่อนพัดปกคลุม ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ขณะที่ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ส่งผลให้ทุกภาคยังคงมีฝนตกแต่มีปริมาณฝนลดลงตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2565

สำหรับวันที่ 20–23 มิถุนายน 2565 หย่อมความกดอากาศต่ำยังคงปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเล จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทย ควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย


สถานการณ์อาหารราคาแพงนำมาซึ่งความไม่มั่นคงทางอาหาร (สภาวะที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการทั้งในทางกายภาพและเศรษฐกิจที่ตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี)เป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายต่อหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ไทยเราได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลกและปัจจัยการผลิตที่นำเข้าราคาปรับขึ้น ส่งผลให้สินค้าในประเทศหลายอย่าง รวมถึงพวกอาหารราคาปรับขึ้นตาม แต่ด้วยบ้านเราเป็นประเทศเกษตรกรรม เป็นแหล่งผลิตอาหาร ทำให้เราไม่เผชิญภาวะขาดแคลน มีอาหารเพียงพอ อาจแพงขึ้นบ้างตามกลไกตลาดและอีกแง่หนึ่งจากวิกฤตอาหารโลกที่เกิดขึ้นกลับทำให้ไทยได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นด้วย

สภาพปัญหาและสาเหตุของวิกฤตอาหารโลก

เมื่อเดือนที่ผ่านมา องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้เผยข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงวิกฤตราคาอาหารแพงทั่วโลก ระบุว่าดัชนีราคาอาหาร ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงรายเดือนของสินค้า อาหารและโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายมากที่สุดทั่วโลก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มธัญพืช ผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ น้ำมันพืช และน้ำตาล เดือนมีนาคม 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 13% จากเดือนกุมภาพันธ์ และราคาอาหารพุ่งขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบเป็นรายปีในเดือนเมษายน 2565 กับเดือนเมษายน 2564

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 มิถุนายน 2565

ราคาอาหารที่แพงขึ้นนำมาสู่ความไม่มั่นคงด้านอาหาร ประชาชนต้องเจียดรายได้มาจ่ายค่าอาหารมากขึ้น สำหรับประเทศที่ประชาชนมีรายได้มากและค่าครองชีพมีความสอดคล้องกัน อาจส่งผลกระทบบ้างเล็กน้อย แต่ในประเทศรายได้น้อยได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะการซื้ออาหารคิดเป็นอย่างน้อยครึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายครัวเรือนทั้งหมด

ราคาอาหารสูงขึ้นแต่ประชาชนยังมีรายได้เท่าเดิมหรือน้อยลง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหารและนำไปสู่ปัญหาความอดอยากได้ เฉพาะในประเทศเอเชียแปซิฟิก FAO ระบุว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากราคาอาหารแพงและการขาดแคลนอาหารมากถึง 1,800 ล้านคน โดยนักวิเคราะห์ของ FAO ระบุว่า นี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของการเกิดวิกฤตที่เรียกว่า The Great (Food) Shortage หรือภาวะขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ของโลกได้

ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ มองสาเหตุหลักของวิกฤตอาหารโลกในครั้งนี้มาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วง 2-3 ปีมานี้ ทำให้ภาคการผลิตและส่งออกอาหารชะลอตัวลงอย่างมาก แม้ขณะนี้การแพร่ระบาดซาลงมากแล้ว แต่หลายประเทศยังไม่ฟื้นตัวมากนัก การส่งออกอาหารจึงยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก กอปรกับสาเหตุสำคัญอีกอย่างคือ สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่นอกจากทำให้ราคาน้ำมันและก๊าชในตลาดโลกเพิ่มสูงต่อเนื่องจากการคว่ำบาตรรัสเซียแล้ว ทั้ง 2 ประเทศยังเป็นแหล่งทรัพยากรอาหารและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าวสาลีและปุ๋ย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าผลิตผลกว่า 19 - 34 ล้านตันจะหายไปในปีนี้ และจะหายถึง 43 ล้านตันในปี 2566 จากการที่การเพาะปลูก เก็บเกี่ยว การผลิตและส่งออก เป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปขายต่างแดนผ่านท่าเรือในทะเลดำต้องหยุดชะงักลง จากการถูกเรือรบของรัสเซียปิดล้อม ดังนั้นหลายประเทศ เช่น มองโกเลีย อาร์เมเนีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย ปากีสถาน ตุรเคีย ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากรัสเซียและยูเครน ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

สงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงถือเป็นตัวเร่งให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกหลายด้าน รวมถึงแนวโน้มวิกฤตอาหารโลกที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร ผลักดันให้หลายประเทศต้องออกนโยบายห้ามส่งออกอาหาร เพื่อรักษาสมดุลอาหารเลี้ยงคนในประเทศ โดยข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF พบว่า ขณะนี้มีประมาณ 30 ประเทศทั่วโลกได้ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง อินโดนีเซีย ผู้ส่งออกน้ำมันเพื่อการบริโภครายใหญ่สุดของโลกประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มสำหรับทำอาหาร, คาซัคสถาน จำกัดการส่งออกข้าวสาลีและแป้งสาลีเป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ขณะที่อาร์เจนตินา ผู้ส่งออกเนื้อวัวรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก จำกัดการส่งออกเนื้อวัว จนถึงปี 2566 ส่วนอินเดียประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี

ไทยอาหารเพียงพอ ส่งออกสินค้าเกษตรโตขึ้นกว่า 23%

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า ประเทศไทยถือเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก อาหารจึงมีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและหากมองในมุมวิกฤตอาหารโลกที่เกิดขึ้น กลับเป็นโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้เติบโตขึ้น ในฐานะแหล่งผลิตอาหารสำคัญและมีเป้าหมายสู่การเป็นครัวของโลก เห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร 4 เดือนแรก ปี 2565 เติบโตอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 โดยสินค้าเกษตรไทยส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 418,883 ล้านบาท เป็น 516,127 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 97,244 ล้านบาท หรือ 23.22% กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ข้าว ยางธรรมชาติ ไก่ปรุงแต่ง อาหารสุนัขหรือแมวปรุงแต่ง ปลาทูน่าปรุงแต่ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำยางธรรมชาติ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้

อย่างไรก็ตาม ไทยได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบผ่านกลไกในรูปคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ มีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศไว้อยู่แล้ว

รัฐบาลหนุนปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ เพิ่มศักยภาพส่งออกสู่ตลาดโลก

สินค้าทางการเกษตรจำพวกอาหาร ข้าวยังเป็นสินค้าสำคัญลำดับต้นๆ ของไทย ทางรัฐบาลได้ส่งเสริมให้ชาวนาปลูกข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นและช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ เป็นการเพิ่มศักยภาพในการส่งออกข้าวไทยสู่ตลาดโลก โดยข้าวพันธุ์ใหม่ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คัดเลือกมาจากการประกวดทั่วประเทศ ได้มาแล้ว 6 พันธุ์(จากเป้าหมาย 12 พันธุ์)? ใน 3 ประเภท คือข้าวหอมไทย ข้าวหอมพื้นนุ่มและข้าวขาวพื้นแข็ง จากนั้นได้นำข้าวพันธุ์ใหม่ทั้ง 6 พันธุ์กระจายให้ชาวนาทำการปลูก คาดว่าภายใน 1 ปี ข้าวพันธุ์ใหม่ดังกล่าวจะออกสู่ตลาดช่วยเพิ่มศักยภาพ-คุณภาพของข้าวไทยในตลาดโลกต่อไป ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้นโยบายกับชาวนาดีเด่นแห่งชาติที่เข้าพบเนื่องในโอกาสวันข้าวและชาวนาแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยขอให้นำความรู้และประสบการณ์ไปต่อยอดพัฒนาสร้างมูลค่าผลผลิตข้าวให้มีราคาเพิ่มสูงขึ้น เป็นการเพิ่มพูนรายได้ให้กับครอบครัวมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถช่วยขับเคลื่อนภาคการเกษตรให้มีความมั่นคง ส่วนเรื่องพันธุ์ข้าว ขอให้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

ทั้งหมดที่ว่ามา แม้ไทยไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากวิกฤตอาหารโลก ในอีกแง่กลับส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรโดยเฉพาะพวกอาหารเพิ่มมากขึ้นก็ตาม แต่ก็ถือว่าการส่งออกที่มากขึ้นของไทยมีส่วนช่วยผ่อนคลายวิกฤตอาหารโลกลงได้บ้าง และยังเป็นส่วนช่วยตอกย้ำเป้าหมายสู่ความเป็นครัวของโลกได้เป็นอย่างดี


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 มิถุนายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ระวังฝนตกหนักบางแห่ง พร้อมเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาถึงวันที่ 20 มิถุนายนนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (15 มิ.ย.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรง และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักและหนักมากบริเวณ จ.ปัตตานี 150 มิลลิเมตร , ชลบุรี 83 มิลลิเมตร และกรุงเทพมหานคร 72 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 45,291 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 55 โดย กอนช. ยังเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาถึงวันที่ 20 มิถุนายน เวลาประมาณ 18.00 - 00.30 น. ที่เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงกว่าที่คาดหมาย คาดการณ์ว่า ระดับน้ำมีความสูงประมาณ 1.70 – 2 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.