• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นถึง 9 ต.ค. ส่งผลให้ประชาชนด้านท้ายน้ำได้รับผลกระทบ

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 ตุลาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นถึงวันที่ 9 ตุลาคม ส่งผลให้ประชาชนด้านท้ายน้ำได้รับผลกระทบ จึงต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนเจ้าพระยา

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (5 ต.ค.65) ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำป่าสักและแม่น้ำเจ้าพระยา หลังคาดการณ์จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.ลพบุรี ถึงวันที่ 9 ตุลาคมประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทานจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ด้วยการจะทยอยปรับเพิ่มจากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำท้ายเขื่อนป่าสัก อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 40 เซนติเมตร – 1 เมตร บริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 40 เซนติเมตร – 1.60 เมตร และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 25 - 50 เซนติเมตร จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300 – 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ถึง จ.สมุทรปราการ จำเป็นต้องระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700 – 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณ อ.เมืองชัยนาท และมโนรมย์ จ.ชัยนาท และ อ.เมืองอุทัยธานี จ.อุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน เพชรบุรี และพังงา ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 63,834 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 78 จึงต้องเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 23 แห่ง คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วคอหมา กิ่วลม แม่มอก แควน้อยบำรุงแดน ทับเสลา ป่าสักชลสิทธิ์ กระเสียว ห้วยหลวง จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ลำตะคอง ลำพระเพลิง มูลบน ลำแซะ ลำนางรอง สิรินธร ขุนด่านปราการชล คลองสียัด บางพระ หนองปลาไหล นฤบดินทรจินดา และบึงบอระเพ็ด

ทั้งนี้ กอนช.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจตรวจสอบประตูระบายน้ำไม่ให้เกิดการชำรุดเสียหาย แล้วซ่อมบำรุงให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ รวมทั้ง สร้างแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้น เช่น โครงการแก้มลิง แผนรองรับปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝน // ให้เตรียมแผนหลักและแผนสำรองให้พร้อมรองรับและแก้ปัญหาในอนาคต เพื่อทำงานร่วมกันแก้ปัญหาการระบายน้ำให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ขณะที่หน่วยทหารและทุกภาคส่วนร่วมกันช่วยเหลือประชาชนและจัดกำลังทหารสนับสนุนส่วนราชการท้องถิ่นดูแลประชาชนที่ศูนย์อพยพชั่วคราว


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.