สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 6 ตุลาคม 2565
นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการบริการจัดการน้ำว่า ปัจจุบันเขื่อนหลักทั้ง 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพลสามารถเก็บกักน้ำได้ 13,400 ล้าน ลบ.ม ขณะนี้มีปริมาณรวมกัน 10,729 ล้าน ลบ.ม คิดเป็นร้อยละ 80 ของความจุอ่างรวมกัน สามารถรับน้ำได้อีก 2,700 ล้านลบ.ม ด้านเขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำรวมกันอยู่ที่ 6,470 ล้าน ลบ.ม หรือคิดเป็นร้อยละ 68 สามารถรับปริมาณน้ำได้อีกกว่า 3,000 ล้าน ลบ.ม ,ส่วนเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 908 ล้านลบ.ม สามารถรับน้ำได้ 31 ล้านลบ.ม และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,050 ล้านลบ.ม เกินความจุของอ่างจึงทำการระบายน้ำ และปัจุบันระดับน้ำที่แม่น้ำเจ้าพระยาจุดรวมน้ำทั้งแม่น้ำปิง น่าน อัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 3,048 ลบ.ม/วินาที และระดับน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลมาสมทบมีอัตราการระบายน้ำอยู่ที่ 363 ลบ.ม/วินาที จึงจำเป็นต้องระบายน้ำไปยัง 2 ฝั่งซ้ายขวารวมอัตราการระบายอยู่ที่ 426 ลบ.ม/วินาที ส่งผลให้เหลือปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาระบายในอัตรา 2,765 ลบ.ม/วินาที โดยมีประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์จะทำการเปิดประตูระบายน่ำเพื่อช่วยเร่งน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย เช่นเดียวที่โครงการแก้มลิงคลองมหาชัย จะเร่งระบายน้ำสู่ทะเลอ่าวไทย ยืนยันช่วงนี้จะทำการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกินอัตราประมาณกว่า 2,700 ลบ.ม/วินาที
รองอธิบดีกรมชลประทาน ย้ำอีกว่าพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ พื้นที่ลุ่มต่ำ และริมสองฝั่งแม่น้ำให้ประชาชนเฝ้าระวังเนื่องจากจะได้รับผลกระทบ พร้อมขอให้ระดับหน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ตรวจตราคันกั้นน้ำให้คงทน เเข็งแรง ขณะที่ระดับน้ำทะเลหนุน จากการตรวจสอบพบว่าปัจจุบันยังหนุนไม่ถึงแนวคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากคันกั้นน้ำของกรุงเทพมหานครมีระดับ2.8- 3.5 เมตร จากการตรวจวัดระดับน้ำที่สะพานพระราม8 ระดับน้ำที่หนุนจะอยู่ที่ 2.1 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง