• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สทนช. เร่งระบายน้ำจากฝนตกสะสมและน้ำหลากจากตอนบนของประเทศในพื้นที่ภาคกลางให้เร็วที่สุด พร้อมปล่อยน้ำเข้าทุ่งรับน้ำลุ่มต่ำเจ้าพระยา 10 ทุ่งตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 ตุลาคม 2565

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งระบายน้ำจากฝนตกสะสมและน้ำหลากจากตอนบนของประเทศในพื้นที่ภาคกลางให้เร็วที่สุด เพื่อเปิดช่องว่างรองรับปริมาณน้ำฝนใหม่ พร้อมปล่อยน้ำเข้าทุ่งรับน้ำลุ่มต่ำเจ้าพระยา 10 ทุ่งตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโนรูและร่องมรสุมจนเกิดฝนตกหนักและหนักมากต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่านสูงขึ้น โดยเฉพาะเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีน้ำไหลเข้าอยู่ที่ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงจำเป็นต้องระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจส่งผลให้บางพื้นที่ด้านท้ายน้ำระดับน้ำสูงขึ้น ขณะที่ลุ่มน้ำป่าสักมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจำนวนมากจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ประมาณ 600 - 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ปริมาณที่เขื่อนพระรามหกอยู่ที่ 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แล้วจะไหลมาสมทบกับน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนเจ้าพระยาไปยังสถานีวัดระดับน้ำ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ประมาณ 3,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่แม่น้ำเจ้าพระยามีศักยภาพรองรับได้อยู่ที่ 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งการบริหารจัดการน้ำในรูปแบบนี้เพื่อให้ลุ่มน้ำน้ำเจ้าพระยารองรับน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ หลังคาดการณ์จะมีฝนตกหนักอีกในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะสามารถบริหารจัดการน้ำได้ ด้วยการเร่งระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่จากฝนตกลงแม่น้ำเจ้าพระยา

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงการบริหารจัดการทุ่งรับน้ำในภาคกลางว่า วันนี้ (4 ต.ค.65) กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) จะประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันและระบายปริมาณน้ำจากตอนบนของประเทศให้เข้าทุ่งรับน้ำลุ่มต่ำเจ้าพระยา 10 ทุ่ง หลังสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เร่งทำความเข้าใจและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบทุ่งรับน้ำไว้แล้ว เบื้องต้นทุ่งรับน้ำทั้งหมดมีศักยภาพรองรับปริมาณน้ำหลากได้กว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จากศักยภาพรับน้ำได้สูงสุด 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่มีฝนที่ตกลงมาในทุ่งรับน้ำบางส่วนแล้ว โดยจะทยอยปล่อยน้ำเข้าทุ่งรับน้ำตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนที่กำลังประสบอุทกภัย ควบคู่กับดูแลความเป็นอยู่ให้กับประชาชนรอบทุ่งรับน้ำด้วยการปล่อยพันธุ์ปลาต่างๆในช่วงระหว่างใช้ทุ่งรับน้ำให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งรายได้เสริมด้วย จากนั้นจะเร่งสูบน้ำออกจากทุ่งทันทีหลังสถานการณ์น้ำคลี่คลายลงแล้ว เพื่อให้ประชาชนเดินหน้าเพาะปลูกพืชหน้าแล้งต่อไปได้ทันกำหนดเวลาตารางเพาะปลูก


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.