• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 มิถุนายน 2565

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เร่งส่งเสริมพัฒนาอาชีพและยกระดับสหกรณ์ให้เป็นผู้ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าดงหมู” จังหวัดนครพนม พร้อมเข้าช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัยให้ประชาชนในพื้นที่ คทช.

นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามงานการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าดงหมู” ตำบลอุ้มเหม้า อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม เพื่อส่งเสริมพัฒนาอาชีพและยกระดับสหกรณ์ให้เป็นผู้ขออนุญาตใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ปัจจุบันได้ออกหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย และจัดคนลงในพื้นที่ พร้อมมอบสมุดประจำตัวผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ทำกินในชุมชนให้กับประชาชนแล้ว 184 ราย รวม 195 แปลง ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงหมู รวมทั้ง จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรโสกแมว จำกัด เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้เข้ามาพัฒนาส่งเสริมอาชีพในพื้นที่ โดยเฉพาะให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินที่รัฐจัดสรรให้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างมูลค่าในที่ดินทำกิน สร้างรายได้ สร้างสวัสดิการทางสังคม สิ่งสำคัญช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางทฤษฎีใหม่ การสนับสนุนเข้าถึงแหล่งทุนส่งเสริมและจัดทำบัญชีครัวเรือน ?เพื่อให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งบริหารจัดการโดยชุมชนได้ ทําให้การบริหารจัดการที่ดินของชุมชนเกิดความยั่งยืน?

ทั้งนี้ สคทช. พร้อมด้วย กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมป่าไม้ ได้เตรียมยกระดับสหกรณ์ที่มีความพร้อมปรับเปลี่ยนผู้ขอใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นสหกรณ์ในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์และชุมชนในระยะยาว ควบคู่กับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคได้อย่างรวดเร็วตามนโยบายของชุมชน พร้อมจะร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัยและงบประมาณการปรับปรุงบ้านให้กับเกษตรกรในพื้นที่ คทช. เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 70,000 บาท แบ่งเป็น งบสาธารณูปโภค และงบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อไป

สำหรับภาพรวมมีพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนรวม 6 พื้นที่ เนื้อที่ประมาณ 100,724 ไร่ ประกอบด้วย ป่าสงวนแห่งชาติดงหมู // ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยศรีคุณ // ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงเซกา แปลงที่ 2 (ระยะที่ 1) // ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงบ้านโพนสว่าง และป่าปลาปาก // ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงเซกา แปลงที่ 2 (ระยะที่ 2) และป่าสงวนแห่งชาติป่าบ้านโพนตูม และป่านางุม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 มิถุนายน 2565

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วันที่ 5 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยในปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้มีการรณรงค์ภายใต้แนวคิด “Only One Earth : โลกหนึ่งเดียว กับสมดุลชีวิตที่ยั่งยืน” ที่เน้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ กลไกทางสุขภาพและแนวทางการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อสุขภาพของตนเอง สร้างสมดุลของชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องดูแลสุขภาพคนไทยมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้หลักการ One Health หรือสุขภาพหนึ่งเดียว โดยให้ความสำคัญกับคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลายประการ เช่น ปัญหาขยะติดเชื้อ โดยในปี 2564 พบว่า มีปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ ถึงร้อยละ 87 สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของขยะติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ทั้งจากโรงพยาบาล จากการแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) และสถานที่พักรักษาอื่นๆ ตลอดจนปัญหาคุณภาพอากาศจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 กระทรวงสาธารณสุขยังคงให้ความสำคัญ และกำหนดให้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ขับเคลื่อน พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 ให้ฝุ่นละออง PM2.5 เป็น 1 ใน 2 โรคจากมลพิษสิ่งแวดล้อมที่ต้อง เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค โดยให้สื่อสารเตือนภัย แจ้งเหตุ การปฏิบัติตนและมาตรการต่างๆ ที่สำคัญ เช่น การลดแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM2.5 ลดการเผาป่า ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน ที่จะช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 มิถุนายน 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งใช้ BCG Model เป็นแนวทางฟื้นฟูความแข็งแกร่งของประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมให้สำเร็จ

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการประชุมนานาชาติสตอกโฮล์ม 50 ปี (Sotckholm + 50) ว่า ประชาคมโลกให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างไร้ขีดจำกัดและจำเป็นต้องได้รับการแก้ปัญหา ในส่วนของประเทศไทยได้มุ่งเน้นสร้างความสมดุลในทุกมิติ โดยใช้ BCG Model เป็นแนวทางฟื้นฟูความแข็งแกร่งของประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดของโลกและเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ 1 ใน 10 อันดับแรกของโลกเช่นกัน ซึ่งจุดแข็งนี้ไทยจึงได้รับการยอมรับเป็นครัวของโลก จึงไม่สามารถดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติทางด้านการเกษตรแบบเดิมได้อีก ด้วยการหันมาปรับเปลี่ยนโดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรนวัตกรรมบนพื้นฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ ขอแสดงจุดยืนและความตั้งใจจริงของไทยมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า จากความตั้งใจจริงของไทยลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามแผนที่ประกาศไว้จะได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี ด้านการเงิน และการสร้างขีดความสามารถจากพันธมิตรระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันไทยจำเป็นต้องเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาจัดการกับวิกฤติการเปลี่ยนของสภาพภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์เช่นกัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 มิถุนายน 2565

วันที่ 3 มิถุนายน 2565 นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม พร้อมด้วย นายกเหล่ากาชาดจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจิตอาสาพระราชทาน ร่วมกิจกรรมจิตอาสารักษ์สิ่งแวดล้อม เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ ไม่ทิ้งน้ำ 7 อย่าง และบ้านต้นแบบไม่ทิ้งเศษอาหาร ขยะอินทรีย์ที่บ้านนายวิรัช จำปานิล ประธานเครือข่ายส่งเสริมการจัดการสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครปฐม ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

ซึ่ง นายวิรัช จำปานิล เป็นแบบอย่างของชาวชุม อ.พุทธมณฑล ที่ไม่ละเลยทุกสิ่งรอบตัว โดยนำน้ำที่ชำระล้างร่างกาย น้ำที่เหลือทิ้งจากการซักผ้า ล้างจาน ต่อท่อ PVC ที่ออกแบบไว้รองรับน้ำทิ้งให้ไหลออกมารดน้ำต้นไม้ที่ปลูกไว้ในบ้าน รวมถึงนำน้ำทิ้งพักในถังที่เติมปุ๋ยชีวภาพแล้วปล่อยลงท่อสู่โคนต้นไม้ พบว่าทั้งสองวิธีทำให้ต้นไม้เจริญงอกงาม แปรเปลี่ยนให้เกิดประโยชน์ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดทรัพยากรของแผ่นดินได้อีกด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 มิถุนายน 2565

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชนไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2565 “Only One Earth : เพราะโลกมีเพียงใบเดียว"

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2565 ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี ภายใต้แนวคิด “Only One Earth : เพราะโลกมีเพียงใบเดียว" โดยปีนี้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้กำหนดประเด็นหลัก (Themeณรงค์เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลก โดยในปีนี้กำหนดประเด็นเรื่อง “ONLY ONE EARTH : ปกป้องโลกวันนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของเรา” มุ่งเน้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนมุ่งสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำให้ได้ตามเป้าหมาย Net Zero ทั้งนี้ ประเทศไทยยังคงเดินหน้าอย่างจริงจังจากการประกาศบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 พร้อมยกระดับความตกลงปารีส (NDCs) เป็นร้อยละ 40 และเสริมสร้างขีดความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไทยได้ประกาศให้ BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ แล้วยังเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ด้วยการจัดทำกรอบแนวคิดการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG และพัฒนาเครื่องมือ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมุ่งสู่การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Build Forward Greener) ปรับเปลี่ยนชีวิตวีถีใหม่อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นดูแลภาคดูดซับของก๊าซเรือนกระจก ด้วยการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวของประเทศให้ได้ร้อยละ 55 ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อเพิ่มการดูดซับของก๊าซเรือนกระจก (Carbon sinks) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ภาคการคมนาคมและการขนส่งได้พัฒนาการบริหารจัดการการเดินทางสำหรับประชาชนและการขนส่งด้วยระบบรางและทางน้ำ // ภาคการเงินและการลงทุน ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสีเขียว การออกมาตรการงดเว้นภาษีสำหรับการลงทุนด้านพลังงานทางเลือก // ใช้เทคโนโลยีเก็บกักก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี // ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหญ่ลงทุนช่วยการเกษตรรายย่อยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการเกษตร // การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องเอื้อให้เกิดการปรับเปลี่ยนการลงทุนของภาคเอกชนไปสู่ธุรกิจสีเขียวได้ง่ายขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 มิถุนายน 2565

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากปัญหาเรื่องการระบายน้ำทิ้งที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ในพื้นที่คลองเสื่อมโทรมในกรุงเทพมหานคร พื้นที่คลองแสนแสบและคลองสาขา และพื้นที่คลองแม่ข่า จังหวัดเชียงใหม่ โดยมาตรการที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การกำกับให้แหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมปฏิบัติตามกฎหมายและระบายน้ำทิ้งให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่จะสามารถลดความสกปรกที่จะระบายจากแหล่งกำเนิดมลพิษลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งจากการลงพื้นที่ของ คพ. ในปีงบประมาณ 2565 รอบ 6 เดือนแรก (ตุลาคม 2564- เมษายน 2565) มีการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคารบางประเภทและบางขนาด ที่ดินจัดสรร และฟาร์มสุกร จำนวนรวมทั้งสิ้น 302 แห่ง พบว่า แหล่งกำเนิดมลพิษที่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีจำนวน 87 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 35.37 และแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีจำนวน 159 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 64.63 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงมาก

นายอรรถพล กล่าวว่า การผลักดันการดำเนินงานการจัดการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้มีการจัดการเป็นไปตามมาตรฐานก่อนระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อให้คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำเป็นไปตามมาตรฐานและประเภทของการใช้ประโยชน์ และทำให้ระบบนิเวศดีขึ้น ทส. โดย คพ. จึงจัดการอบรมเพิ่มศักยภาพให้แก่แหล่งกำเนิดมลพิษที่มีผลคุณภาพน้ำทิ้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยสนับสนุนให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ และผู้ดูแลระบบบำบัดน้ำเสีย มีความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม และสามารถดูแลปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถบำบัดน้ำเสียให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

การอบรมในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 30-31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษประเภทอาคารบางประเภทและบางขนาดและที่ดินจัดสรร จำนวนทั้งสิ้น 137 คนเข้าร่วมอบรม และ คพ.จะลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำในการปรับปรุงแก้ไขและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายต่อไป สถานประกอบการใดที่ให้ความร่วมมืออย่างดีในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย และพร้อมที่จะขับเคลื่อนกลไกการจัดการน้ำเสียของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นายอรรถพล กล่าว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  31 พฤษภาคม 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนไทยเห็นความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบให้มากขึ้น พร้อมส่งเสริมการปลูกป่าลดภาวะโลกร้อน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยว่า ได้กำชับให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนไทยเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบให้มากขึ้น ควบคู่กับส่งเสริมการปลูกป่าเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการส่งเสริมการทำงานของทุกภาคส่วนให้ปลูกป่าในพื้นที่ป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ และพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชนบท ทั้งพื้นที่มีศักยภาพอยู่แล้วและพื้นที่ต้องหาเพิ่มให้มากขึ้น ส่วนการนำเรื่อง Soft power มาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้เน้นย้ำให้พิจารณาเกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น การท่องเที่ยวธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 พฤษภาคม 2565

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เตรียมลงนามโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย - ลาวในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เพื่อแสดงถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดี และเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติ

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในฐานะผู้แทนประเทศไทย ได้เตรียมลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยกรมสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่าด้วยโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย - ลาว ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย และ นายพันคำ วิพาวัน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว ร่วมเป็นสักขีพยาน วันที่ 1 มิถุนายนนี้ ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย - ลาว ตามกรอบการดำเนินงานความร่วมมือไทย - ลาว พ.ศ. 2561 - 2564 ที่ไทยและ สปป.ลาว เห็นชอบร่วมกันเมื่อปี 2560 เพื่อแสดงถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดี เป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชที่มีค่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติแบบยั่งยืนของ สปป.ลาว และสร้างความร่วมมือของนักพฤกษศาสตร์การศึกษาด้านพันธุ์ไม้ของ 2 ประเทศ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจฯฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาเหมือนฉบับเดิม แต่ได้ปรับขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะที่กรมอุทยานฯได้ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ไว้สำหรับดำเนินโครงการแล้ว 10.95 ล้านบาท จากจำนวนงบประมาณโครงการรวม 15.24 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 4.29 ล้านบาท เป็นงบประมาณส่วนของการฝึกอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องจะมีการขอตั้งงบประมาณเพิ่มเติมเมื่อจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย - ลาว เสร็จเรียบร้อยแล้ว

สำหรับการจัดสร้างสวนรุกขชาติในฝั่งไทยได้เริ่มดำเนินการปีงบประมาณ 2555 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2557 ใช้ชื่อว่า “สวนรุกขชาติ 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย–ลาว” ตั้งอยู่บ้านหนองกอมเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เนื้อที่ 60 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหนองน้้าธรรมชาติ 40 ไร่ ได้ปลูกต้นไม้หลายชนิด เช่น สะเดา คูณ ประดู่ ยางนา โสกเขา กันเกรา แคนา บุนนาค จ้าปี ตีนเป็ดทะเล ปีบ กระพี้จั่น ลั่นทม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ และแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนทั่วไป


  1. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ จ.พัทลุง ประชุมหารือแก้ไขปัญหาการตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่ จ.ตรัง จ.พัทลุง และ จ.นครศรีธรรมราช ยืนยัน จะเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด
  2. ก.ทรัพย์ ออกประกาศแนวปฏิบัติในการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย เพื่อใช้สืบหาต้นตอผู้ก่อมลพิษมารับโทษ
  3. แจ้งเตือนเกษตรกร ฝนชุก อากาศร้อนชื้น ส่งผลโรครากเน่า โคนเน่า ผลเน่า ระบาดทำลายผลผลิตทุเรียน
  4. กอนช. ขอให้ประชาชนภาคอีสานและภาคตะวันออกระวังฝนตกหนัก พร้อมระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันถึงวันนี้ในพื้นที่ 7 จังหวัด
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.