• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 พฤษภาคม 2565

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ทสจ.นครพนม รายงานค่าฝุ่น PM 2.5(ค่าเฉลี่ย 24 ชม.) 11 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศดีมาก และมีแนวโน้มทรงตัว ค่าฝุ่น PM10 มีค่า 22 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศดีมาก - ค่ามลพิษในอากาศ ค่า โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อยู่ในเกณฑ์ คุณภาพดีมาก ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI) ของจังหวัดนครพนม อยู่ในระดับคุณภาพอากาศดีมาก ให้คำแนะนำสุขภาพ วันนี้คุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง และการเท่องเที่ยว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง พร้อมให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมช่วงหน้าฝน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (21 พ.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.เชียงใหม่ 184 มิลลิเมตร , กาญจนบุรี 156 มิลลิเมตร และ จ.แพร่ 151 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 45,472 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 55 ทั้งนี้ กอนช.ยังได้ติดตามการเตรียมพร้อมมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ โดยวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมาบริเวณท้ายเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ และเขื่อนเเควน้อยบำรุงเเดนเกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่บริเวณลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน และลำน้ำสาขา ทำให้มีปริมาณน้ำท่าเพิ่มขึ้นมากและปริมาณน้ำที่ไหลผ่าน สถานี C.2 จังหวัดนครสวรรค์ อยู่ที่อ้ตรา 434 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีเเนวโน้มเพิ่มขึ้น ประกอบกับ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคกลางตอนบนถึงวันที่ 23 พฤษภาคม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสม จึงให้กรมชลประทานยกระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ที่ +16.50 เมตรเทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลางและควบคุมความแตกต่างของความสูงของระดับน้ำ ที่ใช้สำหรับการส่งน้ำไม่เกิน 10.50 เมตร

ขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปรับลดแผนการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลถึงวันที่ 25 พฤษภาคม จากอัตราเฉลี่ยวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลืออัตราเฉลี่ยวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์ถึงวันที่ 24 พฤษภาคม จากอัตราวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลืออัตราวันละ 7 ล้านลูกบาศก์เมตร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 พฤษภาคม 2565

ประเทศไทย เร่งแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย และขยะสำเร็จในระดับหนึ่ง เพื่อลดสาเหตุการเกิดภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน พร้อมก้าวสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างมั่นคงในอนาคต

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวบนเวทีเสวนา "สิ่งแวดล้อมยุคใหม่ เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ" ภายในงาน “ถามมา ตอบไป Better Thailand Open Dialogue เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” จัดโดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เร่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะเรื่องมลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย และขยะ อย่างเรื่องมลภาวะเป็นปัญหาสำคัญมากในขณะนี้ที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์มลภาวะในไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นดูได้จากตัวเลขตั้งแต่ปี 2562 - 2565 พบค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ประกอบกับ จุดความร้อน (Hotspot) ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือลดลงต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัดเฉลี่ยถึงร้อยละ 70 ที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนร่วมกันไม่เผาในที่โล่ง แม้จะมีฝนตกลงมาช่วยลดการสะสมของฝุ่นลงและจุดความร้อนก็ตาม ภาพรวมปริมาณวันเกิดฝุ่น PM 2.5 ลดลงถึงร้อยละ 20 และวันเกิดฝุ่น PM สูงสุดลดลงเช่นกันถึงร้อยละ 12 ส่วนปัญหาน้ำเสียจากการสำรวจคุณภาพน้ำยังไม่ค่อยดีเท่าที่ควรและน่าเป็นห่วง ทั้งแม่น้ำ ลำคลอง ชายฝั่งทะเล และแหล่งน้ำที่รับน้ำเสียจากนิคมอุตสาหกรรม โรงงานอุตสาหกรรม และชุมชน แม้ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด - 19 คุณภาพน้ำไม่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นเลย ยังไม่นับรวมน้ำที่อยู่กลางอ่าวไทยและอันดามันตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และสุดท้าย ขยะ ยังพบมีการจัดการไม่เพียงพอเกิดขึ้นในประเทศ จึงต้องลดขยะด้วยการนำมารีไซเคิล ซึ่งปัจจุบันขยะรีไซเคิลเริ่มมีราคาสูงขึ้นแล้วจากการจำกัดปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกมาในประเทศตั้งแต่ปี 2563 กว่า 400 รายการ หากไทยลดปริมาณทั้ง 3 ปัจจัยสำคัญดังกล่าวลงได้จะช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกในไทย เพื่อก้าวเข้าสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) ภายในปี 2065 สำเร็จแน่นอน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มั่นใจว่า หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมีศักยภาพเพียงพอในการช่วยกันลดและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในประเทศ เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องลงมือทำจริงจังให้เกิดผลสำเร็จ เนื่องจากทั่วโลกกำลังวางมาตรการโดยเฉพาะภาษีด้านสิ่งแวดล้อมและกำหนดค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ในสินค้าหลายประเภทที่มีผลกระทบโดยตรงต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นที่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาตนเอง ให้รับกับมาตรการสังคมโลกเพราะสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในทุกด้าน โดยเฉพาะการส่งออก ทั้งนี้ ในแต่ละปีพบมีประชากรโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศกว่า 9 -10 ล้านคน ยังไม่นับรวมโรคภัยไข้เจ็บที่มาจากสารเคมีทางการเกษตร ขยะพลาสติก และไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 พฤษภาคม 2565

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เดินหน้าศึกษาการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเร่งรัดวางแผนบริหารจัดการน้ำเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายทั้งระบบ

นายสราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) กล่าวในการจัดกิจกรรมสร้างการรับรู้ผ่านสื่อในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ “โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ” ที่จังหวัดนครพนมว่า สทนช. ได้ให้กลุ่มบริษัทที่ศึกษาโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ของพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ และทบทวนวิเคราะห์การดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ศึกษาโครงการที่ผ่านมาสำหรับประกอบการจัดทำแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) พร้อมประเมินผลการดำเนินงานช่วงปี 2561 - 2564 และจัดทำแผนปฏิบัติการการบริหารทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2566 – 2570 ทั้งนี้ พื้นที่ศึกษาลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือมี 36 ลุ่มน้ำสาขา แบ่งเป็น 9 กลุ่มลุ่มน้ำสาขา ครอบคลุม 10 จังหวัด คือ เลย หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี รวมพื้นที่กว่า 29.8 ล้าน

สำหรับตามเป้าหมายของการพัฒนาที่สร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วมและมีความเชื่อมโยงกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) 6 ด้าน ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ การจัดหาและจัดสรรทรัพยากรน้ำอย่างเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำ // การป้องกัน คุ้มครอง และฟื้นฟูการให้บริการระบบนิเวศที่เชื่อมโยงกับทรัพยากรน้ำด้วยการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ใช้น้ำ // การส่งเสริมการปรับตัวของผู้ใช้น้ำต่อปัญหาด้านทรัพยากรน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสุดท้าย การสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมศักยภาพการบริหารจัดการลุ่มน้ำ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 พฤษภาคม 2565

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับ 6 หน่วยงาน เดินหน้าศึกษาประสิทธิผลของการติดตั้งอุปกรณ์บำบัดไอเสียรถยนต์ สำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้ร่วมกับกองทัพเรือ , กรมการขนส่งทางบก , องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ , บริษัท สามมิตร กรีนพาวเวอร์ จำกัด , บริษัท Eminox Ltd , บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาประสิทธิผลของการติดตั้งอุปกรณ์บำบัดไอเสียรถยนต์ สำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์ เพื่อลดมลพิษทางอากาศในประเทศ ด้วยการทดสอบประสิทธิภาพของส่วนของท่อไอเสียที่ช่วยกรองเขม่าไอเสียในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล (DPF) ในสภาวะของการใช้งานจริงของรถยนต์ดีเซลตามสภาพการจราจรและระบบการขนส่งของประเทศไทย ทั้งกลุ่มรถยนต์ดีเซลใช้งานทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี มีจำนวนมากถึงร้อยละ 60 ของรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลที่มีการใช้งานในประเทศ ที่เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่เขตเมืองขนาดใหญ่ที่มีจำนวนรถยนต์มากและการจราจรหนาแน่น ซึ่งในระยะแรกจะเน้นในรถบรรทุกขนาดใหญ่ก่อนแล้วค่อยขยายไปยังรถยนต์ขนาดเล็กต่อไป โดยข้อมูลจากโครงการนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญประกอบการกำหนดมาตรการเชิงนโยบายแก้ปัญหามลพิษจากรถยนต์ดีเซลใช้งานในประเทศไทยให้สำเร็จตามวาระแห่งชาติการแก้ปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละออง

สำหรับอุปกรณ์ส่วนของท่อไอเสียที่ช่วยกรองเขม่าไอเสียในรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล (DPF) เป็นเทคโนโลยีสำหรับกรองฝุ่นละอองจากไอเสียรถยนต์ที่มีการติดตั้งในรถยนต์ในระดับมาตรฐานยูโร 5 และ 6 มีประสิทธิภาพลดฝุ่นละอองทั้งน้ำหนักและจำนวนอนุภาคจากไอเสียรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 90 ปัจจุบันใช้งานกับรถยนต์กลุ่มมาตรฐานดังกล่าว และรถยนต์ใช้งานที่ใช้เทคโนโลยีเก่ามากกว่า 10 – 15 ปี พบมีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เพื่อใช้จัดการและแก้ปัญหาฝุ่นละอองจากไอเสียรถยนต์ทั้งกับรถยนต์ใหม่และรถยนต์ใช้งานด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 พฤษภาคม 2565

ค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลคุณภาพอากาศดีต่อเนื่อง จากฝนตกที่ตกลงมาช่วยลดการสะสมของฝุ่นลงได้

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (17 พ.ค.65) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีคุณภาพดีมาก โดยค่าฝุ่นยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ หลังฝนตกในหลายพื้นที่ และจะมีแนวโน้มค่าฝุ่นดีช่วงวันที่ 19 -24 พฤษภาคม ส่วนช่วงวันที่ 18 - 21 พฤษภาคมภาคเหนือจะมีโอกาสเกิดฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ด้วย

ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีมาก ค่าฝุ่นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่จากฝนที่ตกลงมา ทั้งนี้ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 7 วันข้างหน้าฝุ่น PM 2.5 แนวโน้มจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานวันที่ 19 - 24 พฤษภาคม

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนบำรุงดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ จอดรถให้ดับเครื่อง ลดการเผาในที่โล่ง และขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ หากอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานให้หลีกเสี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงและแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซด์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง พร้อมให้กรมชลประทานและกระทรวงมหาดไทยเดินหน้าแผนรับน้ำช่วงฤดูฝนเพื่อป้องกันน้ำท่วมและกักเก็บน้ำไว้ใช้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (16 พ.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ระนอง 112 มิลลิเมตร , บึงกาฬ 100 มิลลิเมตร และนราธิวาส 75 มิลลิเมตร พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าแผนรับมือฤดูฝนปีนี้ อย่างกรมชลประทาน เร่งดำเนินงานใน จ.ระยอง ทั้ง โครงการศึกษาอ่างเก็บน้ำคลองน้ำเขียว เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและรองรับความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ หากแล้วเสร็จจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใน อ.แกลง สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 16.82 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 10,700 ไร่ จะช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและการเกษตร , โครงการระบบส่งน้ำพร้อมอาคารประกอบสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่-ฝายบ้านค่าย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคในพื้นที่ , โครงการอ่างเก็บน้ำคลองโพล้ ความจุ 40 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ มีรับประโยชน์กว่า 30,000 ไร่ หากแล้วเสร็จจะสร้างความมั่นคงด้านน้ำให้ จ.ระยอง อย่างยั่งยืน และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย ได้กำชับการประปาส่วนภูมิภาคสาขา 234 สาขาทั่วประเทศเตรียมพร้อมระบบการผลิตและส่งจ่ายน้ำประปาให้สามารถบริการประชาชนได้เป็นปกติและต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้ง ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของคันสระพักน้ำดิบและสระกักเก็บน้ำดิบ เพื่อรองรับกรณีฝนตกหนักหรือน้ำไหลเข้าเป็นปริมาณมาก และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยธรรมชาติ หรือภัยพิบัติต่างๆสร้างความมั่นใจให้ประชาชนอุปโภค-บริโภคน้ำประปาสะอาดและปลอดภัยได้มาตรฐานทั่วถึงและเพียงพอ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 พฤษภาคม 2565

วันนี้ (15 พ.ค.65) ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิบัติขยะสุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในกิจกรรมขับเคลื่อนไทยเปลี่ยนขยะพลาสติกเพื่อลดมลพิษ ลดโลกร้อน โดยมี นายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี คณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพี่น้องประชาชนชาวสุพรรณบุรี ร่วมกิจกรรม

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกประสบกับวิกฤตจากขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล โดย 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน และมีการนำกลับมาใช้ประโยชน์เพียงปีละ 0.5 ล้านตัน อีก 1.5 ล้านตัน ส่วนใหญ่เป็นเป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastics : SUP) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้วแก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องพลาสติก โดยไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์หรือเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งตาม ROADMAP จัดการขยะพลาสติกประเทศไทย ปี 2561-2573 (Thailand’s Roadmap on Plastic Waste Management 2018 - 2030) ซึ่งได้ขอความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนให้เลิกใช้พลาสติก 7 ชนิด ได้แก่ พลาสติกผสมสารอ็อกโช่พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ไมโครบีดในผลิตภัณฑ์ต่างๆ (ภายในปี พ.ศ. 2562) ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบาง กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว และหลอดพลาสติก (ภายในปี พ.ศ. 2565) โดยให้หันไปใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังตั้งเข้าให้ขยะพลาสติกทั้ง 7 ชนิดสามารถกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 จึงต้องเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจกับทุกภาคส่วนเพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ยังมีความพยายามนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์เปลี่ยนสภาพเป็นผ้าไตรจีวร ย่ามพระ เสื้อผ้า และกระถางต้นไม้ เป็นต้น รวมทั้งการนำขยะพลาสติกมาทำเป็นน้ำมันด้วยกระบวนการไพโรไลซิส (Pyrolysis) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีจากงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจากสถานการณ์น้ำมันที่มีราคาแพง ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก การใช้น้ำมันจากขยะพลาสติก จึงเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้ระดับหนึ่ง รวมทั้งเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก เกิดการนำกลับมาใช้ประโยชน์ลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย

นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดำเนินงานขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทางในชุมชน ให้สอดคล้องกับ Roadmap จัดการขยะพลาสติกประเทศไทย ปี 2561-2573 รวมทั้งส่งเสริมให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินงานในพื้นที่ จึงได้จัด "กิจกรรมขับเคลื่อนไทยเปลี่ยนขยะพลาสติกเพื่อลดมลพิษ ลดโลกร้อน" ขึ้น เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการขยะที่ต้นทาง และการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรีเป็นต้นแบบด้านการจัดการขยะที่ต้นทาง Zero Waste มีเทคโนโลยีเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน และมีการขยายเครือข่ายความร่วมมือไปยังชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 9 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เกิดเป็นเครือข่ายการดำเนินงานตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับอำเภอ จนถึงระดับจังหวัด ซึ่งเหมาะแก่การส่งเสริม เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และขยายผลแนวทางการดำเนินงานการจัดการขยะที่ต้นทาง และการจัดการขยะพลาสติกไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การศึกษาดูงานกิจกรรมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแนวร่วมปฏิวัติขยะสุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี การเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นน้ำมัน การจัดแสดงนิทรรศการการจัดการขยะที่ต้นทาง การจัดการขยะพลาสติก จากชุมชนเครือข่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการคัดแยกขยะพลาสติกแลกไข่และของใช้ในครัวเรือน โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรมประกอบด้วย ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชุมชนเครือข่ายและภาคเอกชน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมจำนวน 300 คน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.