สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 30 สิงหาคม 2565
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำอย่างลุ่มน้ำชี-มูล ช่วงวันที่ 31 สิงหาคม – 10 กันยายน หลังคาดการณ์จะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนัก
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก ฉบับที่ 34 โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ถึงวันที่ 31สิงหาคม พบปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำมูล บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ท้ายจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ช่วงวันที่ 3 – 8 กันยายน บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนัก เบื้องต้นได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร ช่วงวันที่ 31 สิงหาคม – 10 กันยายน คือ ลุ่มน้ำชี บริเวณลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ อำเภอภูเขียว คอนสาร และบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ // แม่น้ำชีและลำน้ำพอง อำเภอโคกโพธิ์ไชย ชนบท บ้านไผ่ บ้านแฮด พระยืน มัญจาคีรีเมืองขอนแก่น แวงน้อย และแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น , อำเภอกมลาไสย กุฉินารายณ์ ฆ้องชัย ดอนจาน เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด และร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ , อำเภอกันทรวิชัย กุดรัง โกสุมพิสัย เชียงยืน และเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม , อำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร , อำเภอจังหาร และเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด // ลำน้ำยัง อำเภอนาคู ห้วยผึ้ง เขาวง และกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ , อำเภอโพนทอง เมยวดี และเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ขณะที่ ลุ่มน้ำมูล เฝ้าระวังบริเวณแม่น้ำมูล อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา , อำเภอกันทรารมย์ ยางชุมน้อยและราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ , อำเภอเขื่องใน และเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี // ลำโดมใหญ่ อำเภอเดชอุดม นาจะหลวย และนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี // ลำเซบก อำเภอดอนมดแดง และตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังให้เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม 6 แห่ง คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล แควน้อยบำรุงแดน น้ำพุง อุบลรัตน์ ขุนด่านปราการชล และนฤบดินทรจินดา รวมถึง ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 แล้วมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ พร้อมทั้ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ควบคู่กับ ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำและแม่น้ำรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย และจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบจากปริมาณน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี