สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 31 สิงหาคม 2565
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำระวังระดับน้ำสูงขึ้น หลังปรับเพิ่มการระบายน้ำ โดยเฉพาะจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (31 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.นราธิวาส 95 มิลลิเมตร , พัทลุง 65 มิลลิเมตร และยะลา 64 มิลลิเมตร โดยเขื่อนเจ้าพระยา ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 1,660 - 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง และคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มลดลง จึงได้ปรับลดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำตามเกณฑ์ที่เหมาะสมในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิม 430 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 51,871 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 63 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 10 แห่ง คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง แควน้อยบำรุงแดน ขุนด่านปราการชล หนองปลาไหล บางพระ นฤบดินทรจินดา และบึงบอระเพ็ด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร ถึงวันที่ 10 กันยายน ในลุ่มน้ำชี บริเวณลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ จ.ชัยภูมิ ,
แม่น้ำชีและลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร และร้อยเอ็ด , ลำน้ำยัง จ.กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด // ลุ่มน้ำมูล บริเวณแม่น้ำมูล จ.นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี , ลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี , ลำเซบก จ.อุบลราชธานี พร้อมเฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม 6 แห่ง รวมถึง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 แล้วมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ