• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังฝนตกหนักต่อเนื่องบางพื้นที่ หลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (13 พ.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.จันทบุรี 129 มิลลิเมตร , หนองคาย 160 มิลลิเมตร และเชียงราย 108 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 45,694 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56 โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคมเป็นต้นไป เนื่องจากมีฝนตกชุกและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ประกอบกับ ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมประเทศไทยต่อเนื่อง และลมชั้นบนได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่า ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศช่วงฤดูฝนปีนี้จะมากกว่าค่าปกติเล็กน้อยประมาณร้อยละ 3 แต่จะน้อยกว่าปี 2564 ซึ่งตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมจะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อยอาจทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน และช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด โดยมีโอกาสสูงจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทยประมาณ 1–2 ลูก จะส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ จนก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำลันตลิ่งหลายพื้นที่

สำหรับฤดูฝนของไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม ส่วนภาคใต้จะมีฝนตกต่อไปถึงกลางเดือนมกราคม ซึ่ง กอนช. ได้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้แล้ว ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำฝนฤดูฝนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 พฤษภาคม 2565

กรมทรัพยากรธรณี ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้หลายจังหวัด จากฝนตกหนักต่อเนื่อง

ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้ออกประกาศขอให้อาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณีและประชาชนทั่วไปเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในระยะนี้ในพื้นที่จังหวัดตาก เชียงใหม่ น่าน อุตรดิตถ์ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และสงขลา โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากบริเวณอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ปัว สองแคว บ่อเกลือ นาน้อย จังหวัดน่าน // อำเภอลับแล ท่าปลา น้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ // อำเภอท่าแซะ ละแม สวี พะโต๊ะ ปะทิว หลังสวน จังหวัดชุมพร และอำเภอสะบ้าย้อย รัตภูมิ จะนะ จังหวัดสงขลา เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน โดยปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสมทำให้ชั้นดินบนภูเขาอุ้มน้ำไว้มาก และในบางพื้นที่เกิดดินไหลและน้ำป่าไหลหลากแล้วอาจทำให้เกิดดินถล่มขึ้นได้

ทั้งนี้ ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ พร้อมแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 พฤษภาคม 2565

จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2565 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ประกอบกับพายุไซโคลนกำลังแรง “อัสนี” บริเวณชายฝั่งประเทศอินเดียตอนกลางคาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศอินเดียตอนกลาง ในช่วงวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2565 ซึ่งจะส่งผลให้ลมที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักและหนักมาก

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 12/2565 ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า ปริมาณฝนตกสะสมอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน ในช่วงวันที่ 10 – 17 พฤษภาคม 2565 รวมทั้งทำให้พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา

กรมชลประทาน ได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง รวมทั้งพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ พร้อมตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำและแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ ให้สามารถรับมือน้ำหลากได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมไปถึงระบบสื่อสารสำรอง เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้อย่างทันท่วงที


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคใต้ฝนตกหนักมากจากอิทธิพลของพายุ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมรับน้ำฝนช่วงฤดูฝนนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (10 พ.ค.65) ว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่องกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคใต้ฝนตกหนักมากบางพื้นที่ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.ชัยนาท 110 มิลลิเมตร , เชียงใหม่ 100 มิลลิเมตร และประจวบคีรีขันธ์ 93 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 45,855 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56 โดย กอนช. ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ อย่างกรมชลประทานส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก แล้วใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วงหรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา // เตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย ด้วยการกำหนดวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ และปริมาณน้ำในลำน้ำ // กำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ พร้อมประสานงานหน่วยงานจังหวัดร่วมกันติดตามและวิเคราะห์คาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ // เตรียมการจัดสรรทรัพยากร เครื่องจักรกล เครื่องมือต่างๆประจำอยู่ที่ศูนย์บริหารเครื่องจักรกลรวม 5,382 หน่วย เพื่อพร้อมช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศตลอดฤดูฝนนี้

ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมพร้อมบุคลากรและติดตั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องจักรกล เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ (โมบายยูนิต) ควบคู่กับตรวจสอบและบำรุงรักษาอุโมงค์ระบายน้ำ 4 แห่ง , สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง , ประตูระบายน้ำ 244 แห่งให้พร้อมใช้งาน พร้อมลดระดับน้ำตามคูคลองให้อยู่ในระดับต่ำตามแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อรองรับสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง และส่งหน่วยปฏิบัติงานเร่งด่วน (Best) เฝ้าระวังประจำจุดเสี่ยงน้ำท่วมด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 พฤษภาคม 2565

ค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลคุณภาพอากาศดีมากถึง 16 พฤษภาคม หลังฝนตกช่วยลดการสะสมของฝุ่นลง

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (9 พ.ค.65) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีคุณภาพดีมาก โดยค่าฝุ่นยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่ หลังฝนตกในหลายพื้นที่ และจะมีแนวโน้มค่าฝุ่นดีช่วงวันที่ 11 -16 พฤษภาคม แต่ต้องเฝ้าระวังค่าฝุ่นบริเวณภาคเหนือจึงต้องควบคุมการเกิดจุดความร้อนภายในประเทศเพื่อช่วยลดการสะสมของฝุ่นลงได้ ส่วนช่วงวันที่ 10 - 14 พฤษภาคมภาคเหนือจะมีโอกาสเกิดฝนฟ้าคะนองในหลายพื้นที่ด้วย

ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีมากถึงปานกลาง ค่าฝุ่นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพื้นที่จากฝนที่ตกลงมา ทั้งนี้ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 7 วันข้างหน้าฝุ่น PM 2.5 แนวโน้มจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานวันที่ 11 - 16 พฤษภาคม

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนบำรุงดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ จอดรถให้ดับเครื่อง ลดการเผาในที่โล่ง และขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ หากอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานให้หลีกเสี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงและแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซด์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 พฤษภาคม 2565

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะผู้ทำหน้าที่พระยาแรกนา ประจำปีพุทธศักราช 2565 เป็นประธานในพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ เทวดา องค์พระพิรุณทรงนาค พญานาคและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยพิธีบวงสรวงฯ นี้ จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยพิธีบวงสรวงบูรพกษัตริย์ องค์พระพิรุณทรงนาค และศาลพระภูมิเจ้าที่ของพระยาแรกนาขวัญ จะเป็นพิธีกรรมก่อนการเริ่มงานวันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยมีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ พร้อมคณะ เป็นผู้ดูแลการประกอบพิธีพราหมณ์และมีเทพีคู่หาบทอง เทพีคู่หาบเงิน ร่วมในพิธีด้วย

ในปีพุทธศักราช 2565 กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นวันสวดมนต์เริ่มการ “พระราชพิธีพืชมงคล” อันเป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ ซึ่งประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง และถือเป็นวันเกษตรกรด้วย สำหรับวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นวัน “พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์จะประกอบพระราชพิธี ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ฤกษ์พิธีไถหว่าน ระหว่างเวลา 08.19 น.- 08.49 น.

สำหรับพันธุ์ข้าวพระราชทานที่เตรียมไว้ในพระราชพิธีมีทั้งสิ้น 6 สายพันธุ์ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 1,728 กิโลกรัม ได้แก่ 1) ขาวดอกมะลิ 105 จำนวน 245 กิโลกรัม 2) ปทุมธานี 1 จำนวน 399 กิโลกรัม 3) กข 43 จำนวน 125 กิโลกรัม 4) กข6 จำนวน 70 กิโลกรัม 5) กข 87 จำนวน 300 กิโลกรัม และ 6) กข 85 จำนวน 589 กิโลกรัม จึงได้เตรียมแจกจ่ายพันธุ์ข้าวพระราชทานให้กับเกษตรกรและประชาชน เพื่อความเป็นสิริมงคล

โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมการข้าว กองเมล็ดพันธุ์ข้าว ที่เบอร์โทรศัพท์ 02-561-3794 ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวทั้ง 29 แห่ง ศูนย์วิจัยข้าวทั้ง 27 แห่ง และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าว จังหวัดสุพรรณบุรี

นอกจากนี้ ผู้ที่สนใจยังสามารถรับเมล็ดพันธุ์พระราชทาน ผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์กรมการข้าว ซึ่งเมื่อลงทะเบียนทางออนไลน์แล้ว สามารถเดินทางไปรับพันธุ์ข้าวพระราชทานได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่านหลังจากวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เป็นต้นไป โดยจะได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานคนละ 2 ซอง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังฝนตกบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมาก พร้อมระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก 3 จังหวัดภาคใต้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (7 พ.ค.65) ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนเพิ่มมากขึ้น ส่วนภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งและคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช 116 มิลลิเมตร , ตาก 148 มิลลิเมตร และประจวบคีรีขันธ์ 70 มิลลิเมตร โดยต้องเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากในภาคใต้บริเวณ อ.พะโต๊ะ อ.สวี อ.ละแม อ.ทุ่งตะโก อ.ท่าแซะ และ อ.ปะทิว จ.ชุมพร // อ.กาญจนดิษฐ์ อ.วิภาวดี อ.เกาะสมุย และ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี // อ.พรหมคีรี อ.ลานสกา และ อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ส่วนแม่น้ำสายหลักน้ำน้อยถึงปกติและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,106 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56 และเฝ้าระวังน้ำมากบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลางตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ โดยให้คาดการณ์ปริมาณฝนและสถานการณ์น้ำในพื้นที่เพื่อปรับเกณฑ์การเก็บกักและระบายน้ำเขื่อนบางลางปี 65/66 ให้เหมาะสม สามารถรองรับสถานการณ์อุทกภัย และการจัดสรรน้ำในพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพต่อไป ส่วนกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำรับมือฝนในจังหวัดสมุทรปราการ ด้วยการบริหารจัดการน้ำผ่านคลองชลประทาน 15 สาย ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ 11 แห่ง พร้อมติดตามสภาพอากาศและปริมาณฝนย้อนหลัง เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ , ตรวจสอบความพร้อมของอาคารชลประทาน และสถานีสูบน้ำให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ และพร่องน้ำในคลองชายทะเลเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 พฤษภาคม 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 43,282 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ผ่านพ้นช่วงเวลาในการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งแล้ว พบว่าทั้งประเทศมีการใช้น้ำเกินแผนเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำ ร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัด ทำให้การใช้เป็นไปตามแผนที่วางไว้และเพียงพอตลอดฤดูแล้งที่ผ่านมา

หลังจากนี้จะเป็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝน จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ ดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565 ทั้ง 13 มาตรการอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ให้บริหารจัดการน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยคำนึงถึง ปริมาณ เวลา ผลกระทบ ความมั่นคงของอาคารชลประทาน และระเบียบกฎหมาย เป็นหลัก หมั่นตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ

หากมีการปรับปรุงหรือซ่อมแซมให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยไวพร้อมกับจัดทำแผนเผชิญเหตุเพื่อรับมือหากเกิดสถานการณ์น้ำหลาก จัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมทั้งระบบสื่อสารสำรองให้พร้อมใช้งานได้ทันที หมั่นกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญให้รายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางในการบริหารจัดการในพื้นที่ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดได้ทราบอย่างต่อเนื่องด้วย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.