• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

คพ. เร่งผลักดัน (ร่าง) แผนปฏิบัติการจัดการมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน ระยะ 15 ปี หวังแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนเหตุเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 สิงหาคม 2565

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เร่งผลักดัน (ร่าง) แผนปฏิบัติการจัดการมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน ระยะ 15 ปี หวังแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนเหตุเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการจัดการมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน ระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2566 - 2580) ขึ้น โดยได้ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทำการสำรวจ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือนที่แตกต่างกัน พร้อมจัดการประชุมกลุ่มย่อยตามประเภทแหล่งกำเนิดรวม 8 ประเภท คือ การขนส่งทางบก การขนส่งทางราง การขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำ อุตสาหกรรม การก่อสร้าง กิจกรรมในชุมชน และกิจกรรมสันทนาการ และจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีเป้าหมายที่จะให้พื้นที่มีสถานีตรวจวัดของ คพ. มีระดับเสียงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 และระดับความสั่นสะเทือนมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ภายในปี 2580 เนื่องจากประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงและความสั่นสะเทือนเพิ่มขึ้น แล้วพบมีสถิติเรื่องร้องเรียนเหตุเดือดร้อนรำคาญจากเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และการแก้ปัญหาเป็นไปได้ยาก จึงจำเป็นต้องบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนากฎหมาย และมาตรฐานวิธีการตรวจวัดระดับเสียงและความสั่นสะเทือนให้มีความทันสมัยเป็นสากลให้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุดและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า แผนปฏิบัติการฯดังกล่าวจะถูกใช้เป็นแผนหลักและทิศทางดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคส่วนต่างๆ เพื่อบริหารจัดการมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน โดยครอบคลุมการจัดการแหล่งกำเนิด สิ่งแวดล้อม และชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และให้แผนแม่บทฯมีความสมบูรณ์ขึ้น


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.