สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 17 สิงหาคม 2565
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก 3 วันล่วงหน้า พบมี 5 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วม พร้อมให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริหารจัดการน้ำเขื่อนใหญ่ที่น้ำสูงเกินเกณฑ์ เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำ
นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ โฆษกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบมีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักสะสมในช่วงนี้ 5 จังหวัด คือ ภาคเหนือ บริเวณ อ.แม่สอด จ.ตาก , อ.แม่สะเรียง อ.แม่ลาน้อย และ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน // ภาคตะวันตก บริเวณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี // ภาคตะวันออก บริเวณ อ.มะขาม จ.จันทบุรี และภาคกลาง บริเวณกรุงเทพมหานคร โดยพื้นที่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งอยู่ในภาคเหนือ 3 จังหวัด คือ น่าน พะเยา และเชียงราย พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำโขงที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด คือ หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม ซึ่ง กอนช.จะพิจารณาแนวทางการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์ฝน 3 วันล่วงหน้าลงถึงระดับจังหวัดผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่วางแผนรับมือได้ทันสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนรับทราบล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้ ได้ให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากมีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำสูงสุด (URC) แล้ว คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จ.เชียงใหม่ , เขื่อนกิ่วลมและเขื่อนกิ่วคอหมา จ.ลำปาง , เขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก , บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ , เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น , เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร , เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จ.สระบุรี , อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง โดยให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำให้น้อยที่สุด แล้วยังให้บริหารจัดการน้ำร่วมกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแม่น้ำด้วย เนื่องจากฝนที่ตกสะสมทำให้ดินอุ้มน้ำไว้นานอาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้
โฆษกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า กอนช.ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตามแนวร่องฝนและมีแนวโน้มจะมีพายุเข้าช่วงเดือนกันยายนต่อเนื่องเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งพายุดังกล่าวจะเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง และภาคกลางตอนบน คาดว่า จะส่งผลต่อปริมาณน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สทนช.ยังได้ประสานให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ เร่งสำรวจสถานการณ์น้ำของแหล่งน้ำขนาดเล็ก ความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนทั้งในส่วนที่อยู่ในความดูแลและที่ถ่ายโอนไปแล้ว จากนั้นให้รายงานกลับมายัง สทนช.ภายในวันศุกร์นี้ (19 ส.ค.65) เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสมและป้องกันกรณีน้ำล้นหรือเขื่อนชำรุดเสียหายได้ล่วงหน้าด้วย