• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 เมษายน 2565

นายสำเริง แสงภู่วงศ์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยในปีนี้ปฏิบัติการฝนหลวงได้เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยหลายพื้นที่ ที่ได้ขึ้นปฏิบัติการพบร้อยละ 90 ที่ปะสบความสำเร็จแต่ปริมาณน้ำยังไม่มากพอเหมือนหน้าฝน ขณะที่สถานการณ์ในภาพรวมในปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมาแต่ยังคงมีพื้นที่ ที่อาจเกิดฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหรือน้ำผิวดินมีไม่เพียงพอโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ใช้น้ำฝนในการทำเกษตรกรรม ดังนั้นกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงจำเป็นต้องวางแผนช่วยเหลือประชาชนที่จะได้รับผลกระทบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ในการขึ้นบินแต่ละครั้งต้องดูความชื้นสัมพัทธ์ สภาพอากาศ ทิศทางของลม และปริมาณเมฆ เพื่อให้สามารถโปรยสารเคมีได้

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มเติม 3 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี อุบลราชธานี และจ.นครราชสีมา และขณะนี้ มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้แผนการปฏิบัติการฝนหลวงสอดคล้องกับสถานการณ์ และครอบคลุมพื้นที่เพื่อเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรย้ำปีนี้จะเกิดภัยแล้งไม่รุนแรงมากนัก พร้อมเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ด้วยการทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เกิดภัยแล้ง

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงแผนรับมือภัยแล้งปีนี้ว่า ภัยแล้งจะไม่รุนแรงเหมือนกับปีที่ผ่านมา ยกเว้นบางพื้นที่อาจเกิดฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหรือน้ำผิวดินมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องวางแผนช่วยเหลือประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ โดยปีนี้จะต้องวางจุดขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงให้ตรงกับพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นมียื่นขอฝนหลวงมาแล้ว 33 จังหวัด ควบคู่กับดูแผนการเพาะปลูกประจำปีด้วยเพื่อให้เพาะปลูกสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มี ทั้งนี้ การขึ้นบินแต่ละครั้งต้องดูความชื้นสัมพัทธ์ สภาพอากาศ ทิศทางของลม และปริมาณเมฆ เพื่อให้สามารถโปรยสารเคมีได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 เมษายน 2565

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรเกี่ยวกับการจัดการมลพิษเนื่องจากน้ำมันและการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน และก้อนน้ำมันดิน พร้อมพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ (Oil Fingerprint) มาใช้แก้ปัญหาน้ำมันรั่วในประเทศและหาผู้กระทำผิด

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางวิชาการ เรื่อง "การจัดการมลพิษเนื่องจากน้ำมันและการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลจะช่วยให้การจัดการปัญหามลพิษเห็นผลมากขึ้น พร้อมพัฒนาศักยภาพการจัดการน้ำมันด้านต่างๆในประเทศไทย แล้วนำไปประยุกต์ใช้ป้องกันการเกิดน้ำมันรั่วไหล เนื่องจากปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันลงทะเลส่งผลให้เกิดคราบน้ำมันบริเวณชายหาดและก้อนน้ำมันดินตรงแนวชายฝั่งขึ้น กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทรัพยากรทางทะเล ระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การประมง และการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องใช้เวลายาวนานฟื้นฟูให้กับคืนความสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถบ่งชี้แหล่งที่มาของการรั่วไหลหรือผู้ที่กระทำความผิดได้ ที่ผ่านมา คพ. ได้พัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ (Oil Fingerprint) ถือเป็นเอกลักษณ์ของน้ำมันที่จะนำมาใช้บ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันได้ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยภายใต้กรอบมาตรฐานสากล ภาพรวมจากการสำรวจพบสาเหตุการรั่วไหลของน้ำมันในประเทศไทยระหว่างปี 2516 - 2564 เกิดจากอุบัติเหตุไม่ทราบสาเหตุสูงถึงร้อยละ 35 จึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือในการบ่งชี้แหล่งที่มาของคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันดิน เพื่อให้ผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการจ่ายค่าฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับสู่สภาพเดิม

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันได้ใช้การพิมพ์ลายนิ้วมือน้ำมันดิบ (Oil Fingerprint) เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนของคราบน้ำมันหรือก้อนน้ำมันกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องสงสัย โดยจะนำมาใช้บ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันของประเทศไทยต่อไป แล้วจะตรวจสอบจากตัวชี้วัดทางชีวภาพที่คงทนและไม่เสื่อมสลายไปกับกระบวนการทางธรรมชาติเพื่อย้อนกลับไปบ่งชี้แหล่งที่มา ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถนำมาจัดการมลพิษทางน้ำจากการรั่วไหลของน้ำมัน คราบน้ำมัน และก้อนน้ำมันดินที่เกิดในประเทศให้ลดน้อยลง พร้อมร่วมกับประเทศต่างๆควบคุมการลักลอบการระบายน้ำมันและคราบน้ำมันลงสู่สิ่งแวดล้อมต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 เมษายน 2565

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงสภาพอากาศในช่วงต้นสัปดาห์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนภาคใต้ มีฝนตกร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ซึ่งลักษณะของสภาพอากาศร้อนและมีฝนตกจะยังเกิดขึ้นอีก 1-2 วัน

สำหรับวันที่ 28-30 เมษายนนี้ จะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงอาจเกิดฟ้าผ่าร่วมด้วย ซึ่งสภาพอากาศในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นจนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ สภาพอากาศของประเทศไทยมีความแปรปรวน เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 เมษายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนตอนบนของประเทศและภาคใต้ระวังเกิดฝนตกบางพื้นที่ พร้อมเร่งส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงรากเพาะปลูกข้าวนาปี เพื่อได้เก็บเกี่ยวก่อนหน้าน้ำหลาก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (24 เม.ย.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อยแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.จันทบุรี 71 มิลลิเมตร , อุบลราชธานี 53 มิลลิเมตร และเพชรบูรณ์ 49 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั่วประเทศทุกขนาด 23,585 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 41 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามการเตรียมส่งน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก เพื่อพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ โดยให้กรมชลประทาน เตรียมพร้อมส่งน้ำให้เกษตรกรพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงรากเพาะปลูกข้าวนาปี เพื่อให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวก่อนหน้าน้ำหลาก ด้วยการเร่งนำเครื่องสูบน้ำเข้าติดตั้งบริเวณปากคลองส่งน้ำ 6 ขวา ต.หนองหม้อ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ สูบน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก เข้าสู่คลองส่งน้ำ 6 ขวา สำหรับให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเชียงราก บริเวณ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท และอ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งเริ่มเพาะปลูกตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น โดยเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนหน้าน้ำหลากจะมาถึงนี้ ถือเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำหลากลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่างต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ เร่งกำจัดวัชพืชและขุดลอกตะกอนดินในคลอง 6 ขวา เพื่อให้การลำเลียงน้ำมายังพื้นที่ลุ่มต่ำเชียงรากเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูกตามแผนที่กำหนดได้อย่างทั่วถึง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 เมษายน 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ร่วมมือกับ Agriculture Development Consultant Association (ADCA) แห่งรัฐบาลญี่ปุ่น ดำเนินการศึกษาวิจัยแนวทางบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยเลือกจังหวัดชลบุรี ที่แนวโน้มความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้

จังหวัดชลบุรี เป็น 1 ใน 3 จังหวัดในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครและเมืองพัทยา เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย หากไม่มีการเสริมความมั่นคงให้น้ำต้นทุนและดูแลคุณภาพน้ำ ในอนาคตย่อมเกิดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยมีอ่างเก็บน้ำบางพระ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ ที่จะใช้สนับสนุนการใช้น้ำของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการเกษตร

สำหรับการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 โดย ADCA ได้นำเทคโนโลยีการวัดปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ พร้อมระบบประมวลผล มาติดตั้งบริเวณลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำบางพระ รวมทั้งการติดตั้งสถานีวัดน้ำฝน การติดตั้งระบบการวัดคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำและการวัดปริมาณน้ำไหลออก สำหรับเทคโนโลยีที่ ACDA นำมาใช้ ทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมากำหนดเวลาที่เหมาะสมในการผันน้ำมาใช้ในแต่ละช่วงเวลาของปี รวมไปถึงการส่งน้ำที่มีคุณภาพเหมาะสมต่อทุกกิจกรรมใช้น้ำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในระบบอ่างฯพวงได้เป็นอย่างดี และภายในปี 2565 นี้ ADCA จะส่งมอบอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมจัดทำคู่มือดูแลบำรุงรักษา Software และ Hardware ทั้งระบบให้กับกรมชลประทาน เพื่อใช้งานต่อไป ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ จะให้ความสำคัญกับน้ำกินน้ำใช้เป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากมีความต้องการใช้สูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่แหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนมีจำกัด

หากสามารถควบคุม จัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างมีคุณภาพได้ จะช่วยขับเคลื่อนการใช้น้ำในทุกภาคส่วนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างพอเพียง สอดรับกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 เมษายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังเกิดฝนตก พร้อมระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หลังเขื่อนจิ่งหงของประเทศจีนปรับเพิ่มการระบายน้ำและมีฝนตกท้ายเขื่อน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 เม.ย.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัว , ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเกิดฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้เกิดฝนฟ้าคะนอง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ชลบุรี 97 มิลลิเมตร , นครราชสีมา 81 มิลลิเมตร และอุตรดิตถ์ 68 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 23,800 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 41 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังเขื่อนจิ่งหงของประเทศจีนเพิ่มขึ้นสะสมต่อเนื่องจากวันที่ 18 –21 เมษายนประมาณ 2 เมตร หรืออัตราการระบายน้ำสะสม 1,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องมาจากการระบายน้ำเพิ่มขึ้นและมีฝนตกบริเวณท้ายเขื่อน เบื้องต้นได้ประเมินระดับน้ำในแม่น้ำโขงจากสถานการณ์ดังกล่าวคาดการณ์ว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องช่วงวันที่ 22 – 29 เมษายน โดยช่วงเหนือเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว บริเวณสถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องรวมระดับน้ำเพิ่มขึ้นสะสมในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 1.90 - 2 เมตร และช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ตั้งแต่สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ลงมาถึงสถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 50 เซนติเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 เมษายน 2565

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เฝ้าระวังอุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอาจเกิดปะการังฟอกขาวบริเวณเกาะทะลุ แต่ต้องเฝ้าระวังช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีโอกาสเกิดปะการังฟอกขาวได้

นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก ได้สำรวจและเก็บข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเลระยะยาวด้วย เครื่องบันทึกอุณหภูมิ (Temperature Data Logger) เพื่อเฝ้าระวังการเกิดปะการังฟอกขาวบริเวณแนวปะการังเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ผลคุณภาพน้ำทะเลเบื้องต้นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานและคุณภาพน้ำทะเลประเภทที่ 2 เพื่อการอนุรักษ์แหล่งปะการัง ข้อมูลอุณหภูมิน้ำทะเลบริเวณเกาะทะลุ ช่วงวันที่ 29 มีนาคม - 19 เมษายน พบอุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ที่ 28.75 – 31.67 องศาเซลเซียส จากข้อมูลพบอุณหภูมิน้ำทะเลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม แต่จากการสำรวจแนวปะการังเบื้องต้นยังไม่พบการฟอกขาว ซึ่งสอดคล้องกับองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ หรือ NOAA (โนอา) ประเมินแนวโน้มการเกิดปะการังฟอกขาวที่ได้คาดการณ์เดือนมีนาคม-เมษายนปะการังจะยังไม่ได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิน้ำทะเล แต่ NOAA (โนอา) ได้คาดการณ์อาจเกิดปะการังฟอกขาวบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังต่อเนื่อง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 เมษายน 2565

ค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือคุณภาพอากาศดีมาก ส่วนกรุงเทพมหานครและปริมณฑค่าฝุ่นสูงขึ้นระดับสีส้ม 14 พื้นที่ สูงสุดบริเวณริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (20 เม.ย.65) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีคุณภาพดีมาก โดยต้องเฝ้าระวังช่วงวันที่ 21 - 24 เมษายน หากจุดความร้อน (Hotspot) มีจำนวนมากขึ้นอาจส่งผลให้ฝุ่นละอองสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ขณะที่พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นปรับตัวสูงขึ้นระดับสีส้ม 14 พื้นที่ เช่น ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม , ริมถนนดินแดง เขตดินแดง , ริมถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน , ริมถนนบางนา-ตราด เขตบางนา , ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ทั้งนี้ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 7 วันข้างหน้าฝุ่น PM 2.5 แนวโน้มจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานวันที่ 22 - 27 เมษายน

ทั้งนี้ ขอความร่วมมือประชาชนบำรุงดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ จอดรถให้ดับเครื่อง ลดการเผาในที่โล่ง และขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ หากอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐานให้หลีกเสี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงและแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซด์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.