สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 8 สิงหาคม 2565
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ 16 จังหวัด พร้อมติดตามปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากฝนที่ตกหนัก
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (8 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นโดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.น่าน 201 มิลลิเมตร , จันทบุรี 183 มิลลิเมตร และตราด 181 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พะเยา ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย กาญจนบุรี จันทบุรี และตราด ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,607 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 57 ทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมชลประทาน เร่งผันน้ำช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบการขาดแคลนน้ำในการทำนาในฤดูทำนา ในพื้นที่ ต.หานโพธิ์ ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน ต.ควนมะพร้าว ต.ตำนาน อ.เมือง จ.พัทลุง เนื่องจากอยู่ระหว่างการปรับปรุงท่อระบายน้ำกลางคลอง LMC (ควนกุฏิ) 5 จุด หลังจากปรับปรุงท่อระบายน้ำดังกล่าวให้แล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ สามารถเก็บกักน้ำและส่งน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรช่วงหน้าแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เสี่ยงน้ำล้น และอาจส่งผลกระทบพื้นที่ท้ายอ่างอ่างเก็บน้ำ จึงให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเขื่อนเจ้าพระยา โดยสถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่พบมี 2 แห่งที่มีความเสี่ยงปริมาตรน้ำเต็มความจุ และอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ คือ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม จากการคาดการณ์ปริมาณฝนสะสม 7 วันล่วงหน้า มีปริมาณ 122.2 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำไหลเข้าสะสม 7 วันล่วงหน้า มีปริมาณ 70.8 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่า จะทำให้มีปริมาณน้ำเต็มความจุอ่างวันที่ 13 สิงหาคม หากระบายน้ำด้วยอัตราคงที่ 3.8 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บน้ำกิ่วคอหมา จากการคาดการณ์ปริมาณฝนสะสม 7 วันล่วงหน้า มีปริมาณ 187.9 มิลลิเมตร และคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำสะสม 7 วันล่วงหน้า มีปริมาณ 69.3 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่า จะทำให้มีปริมาตรน้ำเต็มความจุอ่างวันที่ 13 สิงหาคม หากระบายน้ำด้วยอัตราคงที่ 2.6 ล้านลูกบาศก์เมตร
ทั้งนี้ ช่วงวันที่ 7 – 9 สิงหาคมจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะส่งผลให้ช่วงวันที่ 10 – 14 สิงหาคมมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น จึงขอให้กรมชลประทานติดตามสถานการณ์น้ำต่อเนื่องและบริหารจัดการน้ำ โดยใช้อาคารชลศาสตร์พร้อมระบบชลประทานเร่งระบายน้ำและพร่องน้ำในลำน้ำ เพื่อลดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่ง