สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 31 กรกฎาคม 2565
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมระวังปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมปรับลดการระบายน้ำลงลดผลกระทบท้ายเขื่อนเจ้าพระยา
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (31 ก.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงบางแห่งและมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.บึงกาฬ 120 มิลลิเมตร , อุตรดิตถ์ 115 มิลลิเมตร และนราธิวาส 95 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,149 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง ทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เร่งเจาะแก้ไขบ่อน้ำบาดาลและสูบทดสอบปริมาณน้ำในโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกล เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม ประจำปี 2565 ในพื้นที่บ้านดงลาน หมู่ที่ 5 ต.วังจันทร์ อ.สามเงา จ.ตาก
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามสถานการณ์น้ำและเตรียมพร้อมรับมือในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 993 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 6.08 เมตร มีแนวโน้มลดลง และได้ควบคุมปริมาณน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่สถานี C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท ในอัตรา 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ได้ทยอยปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเหลือประมาณ 850 ลูกบาศก์เมตรวินาที ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลดลงในระยะต่อไป ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำด้วยการควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนที่ตกลงมา พร้อมขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ได้เตรียมระบบระบายน้ำ 2 ส่วน ประกอบด้วย ระบบคลองและระบบอุโมงค์ระบายน้ำ เป็นทางด่วนน้ำที่อยู่ในระดับ - 30 เมตร พร้อมอาคารรับน้ำทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกสามารถรับน้ำได้ประมาณ 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที พร้อมระบายน้ำทั้งสองฝั่งเกือบ 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยต้องดึงน้ำผ่านคลองย่อยไปยังคลองหลักจนถึงประตูระบายน้ำ ซึ่งกั้นที่แม่น้ำเจ้าพระยาแล้วต้องสูบระบายออก และได้เพิ่มประสิทธิภาพของปั๊ม พร้อมขอความร่วมมือประชาชนไม่ทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งกรุงเทพมหานครจะปรับปรุงประสิทธิภาพคลอง ปรับปรุงประตูน้ำ ปรับปรุงระบบปั๊ม ปรับปรุงการลอกคลอง การเก็บขยะ และสร้างอุโมงค์ เพื่อให้ระบบระบายน้ำสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ