• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักตอนบนของประเทศและภาคตะวันออก พร้อมเฝ้าระวังแม่น้ำป่าสักและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักตอนบนของประเทศและภาคตะวันออก พร้อมเฝ้าระวังแม่น้ำป่าสักและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (10 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกต่อเนื่อง และในภาคตะวันออกมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน 70 มิลลิเมตร , อุบลราชธานี 99 มิลลิเมตร และกาญจนบุรี 39 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 47,042 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 57 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม อุบลรัตน์ น้ำพุง หนองปลาไหล และบึงบอระเพ็ดทั้งนี้ กอนช. ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เทศบาลนครแม่สอด และ อบต.แม่ปะ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาด 8 นิ้ว 1 เครื่อง และขนาด 6 นิ้ว 1 เครื่อง เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่หลังจากเกิดฝนตกหนัก ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบ้านเรือนประชาชนและผิวการจราจรในพื้นที่บ้านร่วมใจพัฒนา 10 ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด ระดับน้ำท่วมสูง 50 เซนติเมตร

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังแม่น้ำป่าสักและน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์ระดับน้ำจะลดลงต่ำกว่าระดับตลิ่งวันที่ 12 สิงหาคม โดยปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลหลากมายังลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ส่วนระดับน้ำทะเลหนุนสูงพบแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ ช่วงวันที่ 10 - 16 สิงหาคม เวลาประมาณ 18.00 - 21.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง คาดช่วงดังกล่าว ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.80 - 2.10 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราว บริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในจังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำป่าสักและผลกระทบจากระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากสภาวะน้ำทะเลหนุนสูง

สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 4 แห่ง คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา และป่าสักชลสิทธิ์ เบื้องต้นกรมชลประทานได้ปรับการควบคุมระดับน้ำและปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยจะทยอยเพิ่มการระบายน้ำขึ้นจากอัตรา 80 – 120 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.