กรมชลประทาน ร่วมมือ ADCA ภายใต้การสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ศึกษาวิจัยแนวทางบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย
- pratip
- ข่าวสิ่งแวดล้อม
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 23 เมษายน 2565
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ร่วมมือกับ Agriculture Development Consultant Association (ADCA) แห่งรัฐบาลญี่ปุ่น ดำเนินการศึกษาวิจัยแนวทางบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยเลือกจังหวัดชลบุรี ที่แนวโน้มความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้
จังหวัดชลบุรี เป็น 1 ใน 3 จังหวัดในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครและเมืองพัทยา เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย หากไม่มีการเสริมความมั่นคงให้น้ำต้นทุนและดูแลคุณภาพน้ำ ในอนาคตย่อมเกิดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยมีอ่างเก็บน้ำบางพระ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ ที่จะใช้สนับสนุนการใช้น้ำของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการเกษตร
สำหรับการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 โดย ADCA ได้นำเทคโนโลยีการวัดปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ พร้อมระบบประมวลผล มาติดตั้งบริเวณลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำบางพระ รวมทั้งการติดตั้งสถานีวัดน้ำฝน การติดตั้งระบบการวัดคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำและการวัดปริมาณน้ำไหลออก สำหรับเทคโนโลยีที่ ACDA นำมาใช้ ทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมากำหนดเวลาที่เหมาะสมในการผันน้ำมาใช้ในแต่ละช่วงเวลาของปี รวมไปถึงการส่งน้ำที่มีคุณภาพเหมาะสมต่อทุกกิจกรรมใช้น้ำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในระบบอ่างฯพวงได้เป็นอย่างดี และภายในปี 2565 นี้ ADCA จะส่งมอบอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมจัดทำคู่มือดูแลบำรุงรักษา Software และ Hardware ทั้งระบบให้กับกรมชลประทาน เพื่อใช้งานต่อไป ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ จะให้ความสำคัญกับน้ำกินน้ำใช้เป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากมีความต้องการใช้สูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่แหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนมีจำกัด
หากสามารถควบคุม จัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างมีคุณภาพได้ จะช่วยขับเคลื่อนการใช้น้ำในทุกภาคส่วนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างพอเพียง สอดรับกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ