สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 30 มิถุนายน 2565
คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) มีมติเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำประเทศ ด้วยการเร่งรัดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ 4 โครงการ เพื่อเสริมความมั่นคงด้านน้ำทุกภาคส่วน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวถึงการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติชุดใหม่ ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่มี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ประชุมได้กำชับให้เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และโครงการสำคัญให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนน้ำอุปโภค - บริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และระบบนิเวศ โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวพระราชดำริมาขับเคลื่อน โดยมีมติเห็นชอบแผนงานโครงการสำคัญด้านทรัพยากรน้ำที่หน่วยงานเสนอรวม 4 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำกิ จ.น่าน สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทาน 35,558 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 8 ตำบล ใน อ.ท่าวังผา ระยะ 7 ปี ระหว่างปี 2567 – 2573 โดยให้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้จ่ายค่าชดเชยผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว // สถานีสูบน้ำดิบพร้อมระบบท่อส่งน้ำ เพื่อรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จ.ปัตตานี ส่งน้ำไปยังพื้นที่ 4 อำเภอ ใน จ.ปัตตานี ประกอบด้วย อ.หนองจิก อ.แม่ลาน อ.โคกโพธิ์ และอ.เมืองปัตตานี ระยะเวลา 3 ปี ระหว่างปี 2567 – 2569 โดยให้ อบจ.ปัตตานี และสำนักงบประมาณ พิจารณาการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมดำเนินโครงการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง // แผนงานพัฒนาระบบระบายน้ำและจัดการน้ำเสียบริเวณบึงมักกะสันแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาและคูน้ำ ถนนวิภาวดีรังสิต เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาน้ำท่วมขังและจัดการน้ำเสียช่วงจากถนนวิภาวดีรังสิตบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและบึงมักกะสันไปจนถึงสนามบินดอนเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมพื้นที่ 81.53 ตารางกิโลเมตร แผนงาน 4 ปี ระหว่างปี 2567 – 2570 โดยให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดการดำเนินการลดผลกระทบปัญหาจราจร พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ควบคุมระบบระบายน้ำ ที่เห็นควรให้นำเสนอผลจากการคาดการณ์และการเกิดสถานการณ์จริง ณ เวลาปัจจุบัน เพื่อแจ้งเตือนประชาชนด้วย และสุดท้าย แผนพัฒนาและอนุรักษ์คลองพระพิมล จ.นนทบุรี-จ.นครปฐม 41 โครงการ ระยะเวลา 6 ปี ระหว่างปี 2565 – 2570 แล้วให้รายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำทราบเป็นระยะ ซึ่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำบูรณาการแผนงานโครงการโดยใช้ระบบ Thai Water Plan (TWP) และติดตามประเมินผลโดยใช้ระบบ Thai Water Assessment (TWA)
เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า ที่ประชุมยังให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเร่งจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง แผนป้องกัน และภาวะน้ำท่วมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ที่ต้องเชื่อมโยงกับแผนงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การป้องกันและแก้ภาวะน้ำท่วมปีนี้มีประสิทธิภาพ จึงเห็นควรให้ใช้แผนป้องกันและแก้ภาวะน้ำท่วมปีนี้ไปก่อนตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเสนอ ประกอบด้วย (ร่าง) แผนป้องกันและแก้ภาวะน้ำท่วม // 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ // แผนปฏิบัติการของหน่วยงานภายใต้ 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ และสุดท้าย แผนการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน ซึ่งต้องมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนและแผนเผชิญเหตุ ทั้งการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก มีการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ การกำจัดผักตบชวา การเตรียมพื้นที่ลุ่มต่ำรองรับน้ำหลาก การให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อประสบเหตุให้เร็วที่สุด และต้องวางแผนการเก็บน้ำสำรองไว้ใช้ช่วงหน้าแล้งด้วย