• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมอุทยานฯ เร่งจัดทำเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ประกอบแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา เพื่อแก้ปัญหาที่ดินที่มีความขัดแย้งมายาวนาน โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 มิถุนายน 2565

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เร่งจัดทำเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ประกอบแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา เพื่อแก้ปัญหาที่ดินที่มีความขัดแย้งมายาวนาน โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ เบื้องต้นสำรวจพบประชาชนถือครองที่ดินแล้วกว่า 310,000 ราย

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดทำเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์เพื่อประกอบแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ 2562 และตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2562 ที่อยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำกฎหมายลำดับรอง (ร่างพระราชกฤษฎีกา) เพื่อเป็นเครื่องมือยืนยันให้ประชาชนเห็นว่าสามารถแก้ปัญหาที่ดิน ซึ่งเป็นปัญหาที่มีความขัดแย้งมานานให้สำเร็จได้ตามกฎหมายที่กำหนด โดยกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกคนในทุกพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนและคัดเลือกหมู่บ้านเป้าหมายที่ได้สำรวจแล้ว เพื่อนำมาจัดทำแผนการจัดทำเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ ถือเป็นการเตรียมพร้อมการจัดทำแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาตามที่กฎหมายกำหนดให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2566 ทั้งนี้ ได้ขอให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ทุกพื้นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเป็นนโยบายสำคัญที่ใช้เป็นเครื่องมือยืนยันให้ประชาชนเห็นว่าสามารถแก้ปัญหาที่ดินที่มีความขัดแย้งมานานให้สำเร็จได้ โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์ ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์เสร็จแล้วภายในระยะเวลา 240 วันตามที่กฎหมายกำหนด

ด้าน นายอนันต์ ปิ่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ กล่าวว่า กรมอุทยานฯ ได้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนในเขตป่าอนุรักษ์ในพื้นที่ 227 แห่งเสร็จแล้ว พบมีประชาชนถือครองที่ดิน 316,560 ราย รวม 468,256 แปลง เนื้อที่ประมาณ 4,273,726 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เพื่อใช้ตรวจสอบคุณสมบัติและกำหนดเงื่อนไขในการใช้พื้นที่ ควบคู่กับจัดทำเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ เพื่อตราเป็นพระราชกฤษฎีกาต่อไป


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.