สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 5 สิงหาคม 2565
นายกรัฐมนตรี ตั้งเป้ายกระดับประเทศไทยปรับแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส พร้อมมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย หรือ Thailand Climate Action Conference (TCAC) บริเวณรอยัล พารากอนฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ซึ่งในการประชุมนี้เป็นการจำลองรูปแบบของการจัดประชุม COP มาเป็น COP Thailand มาดำเนินการจัดในระดับประเทศภายใต้แนวคิด “อนาคตไทย อนาคตโลก : โอกาสและความรับผิดชอบ” ต้องการสื่อความหมายในเจตนารมณ์ที่ชัดเจน และยกระดับการแก้ปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง ถือเป็นประเทศแรกของโลก เพื่อย้ำให้ประชาคมโลกเห็นว่าประเทศไทยตื่นตัวและดำเนินการป้องกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังตามที่ได้ให้สัญญาไว้ต่อนานาประเทศว่าสามารถทำตามเงื่อนไขที่ให้ไว้ได้ โดย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ "เป้าหมาย Net zero 2065 เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนของไทยในเวทีโลก" ว่า รัฐบาลไทย ยืนยันเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศให้ได้ตามแผนที่ประเทศไทยได้ประกาศไว้บนเวทีโลก เพราะมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิทั่วโลกกระทบต่อพืชเศรษฐกิจและแหล่งอาหารที่กลายเป็นภัยคุกคามระดับโลก ซึ่งไทยได้รับผลกระทบต่อเนื่องและคาดการณ์ไม่ได้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นเช่นกัน พร้อมเดินหน้าปลูกต้นไม้ให้ได้ 100 ล้านต้น เพื่อเพิ่มคาร์บอนเครดิตในประเทศและบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควบคู่กับพัฒนามาตรการรองรับต่างๆ ทั้งด้านการเงินการคลัง เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้ ส่วนพื้นที่ท้องถิ่นและจังหวัดต่างๆ ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ มาเป็นจุดแข็งในการใช้เตรียมรับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยด้วย ที่ผ่านมา ประชาคมโลกได้พยายามยกระดับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและมุ่งบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส ด้วยการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามควบคุมให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เท่ากับต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกลงให้ได้ร้อยละ 45 ในปี 2573 พร้อมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นควบคู่กันอย่างสมดุล
นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการกำหนดทิศทางการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในทุกมิติร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี , แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนแม่บทต่างๆ 3 องค์ประกอบ คือ การลดก๊าซเรือนกระจกระยะยาวที่สอดคล้องกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม // การปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและเอกชน รวมถึง การพัฒนามาตรการทางเศรษฐศาสตร์
ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุมนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยที่เน้นการมีส่วนร่วมจากหลากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะท้องถิ่น พร้อมย่อส่วนการนำเสนอเป้าหมายและทิศทางการทำงานที่ชัดเจนของแต่ละประเทศมาเป็นแต่ละจังหวัดของไทย พร้อมให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายมีความรู้ความเข้าใจและให้ความร่วมมือขับเคลื่อนมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 ซึ่งจะประสบความสำเร็จได้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเอกชนและภาคีเครือข่ายร่วมลดก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน