• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 พฤษภาคม 2565

นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน และคณะ ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง เพื่อประชุมหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน กรณีปัญหาการตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ณ วัดนาวง ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวมทั้ง ตัวแทนสมัชชาคนจน เข้าร่วมการประชุม

รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นความห่วงใยประชาชน ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และรับฟังปัญหาในพื้นที่ จากกรณีปัญหาการตัดโค่นต้นยางพาราเพื่อปลูกใหม่ ในพื้นที่ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ประชาชนอาศัยทำกิน ก่อนการประกาศพื้นที่เป็นเขตอุทยาน เนื่องจากต้นยางพาราที่มีอายุกว่า 30 - 35 ปี ทำให้ต้นยางพาราเสื่อมสภาพ ไม่สามารถเก็บน้ำยางได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน พร้อมระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกำลังเข้าสู่กระบวนการในการแก้ไข ซึ่งปัจจุบัน ยังคงติดในเรื่องของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ยังทำไม่แล้วเสร็จ ทำให้ประชาชนยังไม่สามารถตัดโค่นต้นยางที่เสื่อมสภาพได้ รวมทั้ง คณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ไม่สามารถใช้ มติคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะเร่งรัดการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด และประสานการทำงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน หากไม่มีกฎหมายรองรับเจ้าหน้าที่ไม่สามารถ ให้ประชาชนตัดโค่นต้นยางในพื้นที่อุทยานได้

ขณะที่ในที่ประชุม ได้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหา โดย ตัวแทนสมัชชาคนจนเสนอให้คณะรัฐมนตรีออกเป็นพระราชกำหนด ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น/การเสนอให้ใช้ มาตรา 22 ใน พรบ.อุทยานแห่งชาติ ที่อนุญาตให้สามารถดำเนินการต่างๆในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อการศึกษา วิจัย หรือ การทดลองทางวิชาการได้ รวมทั้ง การเสนอให้ตีความข้อกฎหมายเรื่องการใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินในเขตพื้นที่อุทยาน ว่าสามารถตัดโค่นต้นยางพาราในพื้นที่ได้หรือไม่

โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับข้อเสนอทั้งหมดในที่ประชุม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป พร้อมระบุว่า การแก้ปัญหามีความคืบหน้า และมั่นใจว่าจะสามารถเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประชาชนจนสำเร็จ และ ยืนยันว่า ข้าราชการทุกคน พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนเช่นเดียวกัน พร้อมขอให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ร่วมมือกัน ในการแก้ปัญหาให้ผ่านลุล่วงไปได้

ขณะที่ในช่วงเช้า รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่สำรวจสภาพพื้นที่แปลงปลูกยางพารา ของนางเอื้อน คงวุ่น ในพื้นที่ ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นต้นยางพาราที่มีอายุกว่า 35 ปี และเสื่อมสภาพ ให้น้ำยางได้น้อย และไม่สามารถตัดโค่นเพื่อปลูกใหม่ได้ ทำให้ได้รับความเดือดร้อน โดยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ให้กำลังใจ ยืนยันว่า กำลังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้โดยเร็ว และจะพยายามแก้ปัญหาอย่างเต็มที่

หลังจากนั้นได้พบปะพูดคุยกับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดตรัง จังหวัดพัทลุง และจังหวัดนครศรีธรรมราช ณ วัดนาวง ตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง โดยกล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เพื่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 พฤษภาคม 2565

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกประกาศแนวปฏิบัติในการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย เพื่อใช้สืบหาต้นตอผู้ก่อมลพิษมารับโทษตามกฎหมายและชดใช้ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการศึกษาการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย หลังเกิดปัญหาน้ำมันรั่วไหลในทะเลและไม่สามารถบ่งชี้แหล่งที่มาได้ โดย คพ.ได้ออกประกาศเรื่อง “แนวปฏิบัติในการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย พ.ศ. 2565” แล้ว เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้นำไปประยุกต์ใช้บ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศไทย สำหรับวิธีวิเคราะห์ในประกาศนี้เป็นวิธีหลักที่จะนำมาใช้วิเคราะห์หาลายนิ้วมือน้ำมันที่พบเพื่อบ่งชี้แหล่งที่มา โดยการเปรียบเทียบผลที่ได้กับข้อมูลในฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในไทย หรือลายนิ้วมือน้ำมันที่สงสัย ซึ่งข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันนี้จะเป็นส่วนประกอบสำคัญส่วนหนึ่งสนับสนุนการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในไทย และเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดหรือผู้ประกอบการที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศทางทะเล ต่อไป

สำหรับการปฏิบัติตามประกาศดังกล่าวจะนำข้อมูลผลการวิเคราะห์องค์ประกอบสารอินทรีย์และองค์ประกอบสารอนินทรีย์ไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในไทยหรือต่างประเทศ หรือผลวิเคราะห์ตัวอย่างของแหล่งที่มาของน้ำมันหรือผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยมาประกอบกัน โดยสามารถสรุปผลการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน และผลิตภัณฑ์น้ำมันในไทยได้ใน 4 กรณี คือ กรณีที่ 1 มีความเป็นไปได้สูงที่จะมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผลจากทั้ง 2 ส่วนไปในทิศทางเดียวกันอยู่ในช่วงที่มีความเป็นไปได้สูงที่จะมาจากแหล่งเดียวกัน // กรณีที่ 2 มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นน้ำมันชนิดเดียวกัน โดยมีผลจากทั้ง 2 ส่วนไปในทิศทางเดียวกันมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นน้ำมันชนิดเดียวกัน หรือมีผลใดผลหนึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นน้ำมันชนิดเดียวกัน

ส่วนกรณีที่ 3 สรุปได้ว่าเป็นน้ำมันคนละแหล่ง โดยมีผลจากทั้ง 2 ส่วนไปในทิศทางเดียวกันมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นน้ำมันคนละแหล่ง (Non - Match) ซึ่งในกรณีที่ไม่สามารถสรุปผลได้ให้บันทึกผลการวิเคราะห์ไว้ในฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการเปรียบเทียบในอนาคตต่อไป และสุดท้าย กรณีที่ 4 สรุปไม่ได้ โดยมีผลจากการวิเคราะห์องค์ประกอบสารอินทรีย์แล้วไม่สามารถสรุปได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 พฤษภาคม 2565

นายศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูฝนอากาศร้อนชื้นซึ่งทั้งสภาพอากาศและสภาวะแวดล้อมเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดโรครากเน่า โคนเน่าและผลเน่า สาเหตุจากเชื้อรา ซึ่งเป็นโรคสำคัญที่สุดของทุเรียนเนื่องจากทำให้ต้นทุเรียนที่กำลังเจริญเติบโตและให้ผลผลิตแล้วยืนต้นตายได้

ขอแจ้งเตือนให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียน เฝ้าระวังการเกิดโรคดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงพัฒนาผลและเก็บผลผลิต การป้องกันกำจัดโรครากเน่า โคนเน่าและผลเน่า ในแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี หากมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออกทันที ปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง กรณีดินที่เป็นกรดจัด ให้ใส่ปูนขาวอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้ราก หรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น หากต้นทุเรียนเป็นโรครุนแรงมาก

เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของกิ่ง ใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค ทั้งนี้เชื้อราสาเหตุของโรคเป็นเชื้อที่อยู่ในดินดังนั้นสิ่งที่สำคัญคือการเก็บเกี่ยวผลผลิตต้องไม่วางผลผลิตสัมผัสกับดิน และหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ตัดแต่งกิ่งเป็นโรค กิ่งแห้งและตัดขั้วผลที่ค้างอยู่ นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกระวังฝนตกหนัก พร้อมระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันถึงวันนี้ (26 พ.ค. 65) ในพื้นที่ 7 จังหวัด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (26 พ.ค.65) ว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.เชียงราย 102 มิลลิเมตร , ประจวบคีรีขันธ์ 70 มิลลิเมตร และ จ.มหาสารคาม 63 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 46,224 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56 ทั้งนี้ กอนช.เฝ้าระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันถึงวันนี้ (26 พ.ค. 65) พร้อมขอให้ จ.เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี แจ้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงและแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง และผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าวติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวังผลกระทบที่ีอาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำโขงอย่างฉับพลัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 พฤษภาคม 2565

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพิ่มความเข้มข้นมาตรการป้องกันโรคฝีดาษลิง ตามแนวทางปฏิบัติงานการเฝ้าระวัง 7 ข้อ โดยเฉพาะคุมเข้มการนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศ

นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในกลุ่มประเทศยุโรปขณะนี้ว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้กำชับกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา (CITES) เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ด่านตรวจสัตว์ป่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ด่านควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และด่านกักกันสัตว์ป่า ร่วมกันหารือแนวทางการปฏิบัติงานควบคุมและเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง 7 ข้อ ประกอบด้วย แจ้งด่านตรวจสัตว์ป่าทั่วประเทศ เพิ่มความเข้มงวดการตรวจตราการนำเข้า และนำผ่านสัตว์ป่าต่างประเทศ เฝ้าระวังการลักลอบการนำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มลิง และกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่เข้ามาในราชอาณาจักร // แจ้งให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นพาหะของโรคฝีดาษลิง ขอให้ตรวจโรคฝีดาษลิงเพิ่มเติมจากข้อบังคับการตรวจโรคของกรมปศุสัตว์ // ประสานด่านกักกันสัตว์ของกรมปศุสัตว์ ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ขอให้ตรวจสอบใบรับรองสุขภาพสัตว์ (Health Certificate) ของผู้นำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มเสี่ยงได้ตรวจโรคฝีดาษลิงหรือไม่ ก่อนอนุญาตให้นำเข้ามาในไทย // ขอความร่วมมือผู้นำเข้าสัตว์ป่าต่างประเทศ หากเป็นไปได้ขอให้ชะลอการยื่นคำขอ หรือการนำเข้าสัตว์ป่ากลุ่มเสี่ยงที่มาจากประเทศมีการระบาดของโรคผีดาษลิงเข้ามาในไทย

ทั้งนี้ ยังให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจสัตว์ป่าที่นำเข้า-นำผ่านสัตว์ป่าต่างประเทศเพิ่มความเข้มงวดและความปลอดภัยการปฏิบัติงานตามมาตรการสาธารณสุข เพราะมีโอกาสสัมผัสสัตว์ป่าที่เป็นพาหะของโรคฝีดาษลิง // สำรวจและเฝ้าระวังเชิงรุก ติดตามตรวจสอบสุขภาพของสัตว์ป่ากลุ่มลิงและกลุ่มสัตว์ฟันแทะที่นำเข้ามาในไทย เพื่อให้มั่นใจว่าสัตว์ป่าดังกล่าวไม่เป็นพาหะของโรคฝีดาษลิง พร้อมสอบถามสุขภาพของผู้เลี้ยงมีอาการคล้ายคลึงกับผู้ติดเชื้อจากโรคฝีดาษลิงหรือไม่ และสุดท้าย ประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง E-Service ให้ผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าต่างประเทศเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง หากมีข้อสงสัย หรือเหตุฉุกเฉินขอให้แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่สายด่วน 1362

สำหรับโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนและติดจากคนสู่คนได้ โรคนี้พบมากในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ส่วนการพบผู้ป่วยในประเทศนอกเขตแอฟริกาเกิดจากการเดินทางระหว่างประเทศ หรือการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ ปัจจุบันพบผู้ป่วยมากกว่า 145 รายใน 15 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย อิสราเอล สหราชอาณาจักร สเปน โปรตุเกส อิตาลี เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดนเนเธอร์แลน สวิตเซอร์แลน และกรีซ เบื้องต้นยังไม่พบโรคนี้ในไทย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 พฤษภาคม 2565

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ของประเทศใหม่ ลงมาอยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เพื่อยกระดับคุณภาพอากาศเทียบเท่ายุโรปและลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (บอร์ดสิ่งแวดล้อม) ได้มีมติกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ใหม่ จากเดิมประเทศไทยจะใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง กำหนดค่ามาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ได้ปรับเปลี่ยนใหม่ลงมาอยู่ที่ 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มิถุนายน 2566 และค่าเฉลี่ยรายปี จากเดิมอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปรับลงมาอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีผลบังคับใช้ทันทีนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่า ประมาณช่วง 2-3 เดือนนี้ ซึ่งการปรับปรุงค่ามาตรฐานดังกล่าว เพราะมีการใช้ค่ามาตรฐานมานานกว่า 10 ปีแล้ว จึงควรปรับปรุงให้มีความเข้มข้นและเหมาะสมมากขึ้น เพื่อเป็นเกณฑ์ทั่วไปสำหรับการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแหง่ชาติ พ.ศ. 2535 ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และให้เทียบเท่าอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศกลุ่มอาเซียน อย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน สิ่งสำคัญการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ให้เข้มงวดขึ้น อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” มาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ ซึ่งได้ผ่านการประชุมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนและการประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไปแล้ว

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า สำหรับค่าเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมง ที่กำหนดลดลงเหลือที่มีผลบังคับใช้อีก 1 ปี จากนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองอย่างเข้มข้น เพื่อให้ค่าฝุ่น PM 2.5 ลดลงเหลือเพียง 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเท่านั้น โดยคำนึงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 พฤษภาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังฝนตกหนักถึงหนักมากต่อเนื่อง พร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังเกิดฝนตกหนักลงมา

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (23 พ.ค.65) ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ 125 มิลลิเมตร , ชุมพร 103 มิลลิเมตร และ จ.ลำปาง 103 มิลลิเมตร พร้อมระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก -ดินถล่มช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา ลำพูน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ อุบลราชธานี กาญจนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ระนอง และพังงา ปัจจุบันยังมีสถานการณ์ 3 จังหวัด คือ เชียงราย พะเยา และลำปาง อยู่ 21 อำเภอ 58 ตำบล รวม 278 หมู่บ้าน ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 45,709 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 56

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติตตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังจากมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณตอนบนของประเทศไทย ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลมาสมทบกับบริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คาดว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มสูงขึ้นประมาณ 600 - 700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท ถึงบริเวณตำบลกระทุ่ม ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา และตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกประมาณ 50 - 75 เซนติเมตร โดยกรมชลประทานจะควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว ด้วยการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร หากปริมาณน้ำหลากตอนบนลดลงจะพิจารณาปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลง จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 พฤษภาคม 2565

วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ทสจ.นครพนม รายงานค่าฝุ่น PM 2.5(ค่าเฉลี่ย 24 ชม.) 11 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศดีมาก และมีแนวโน้มทรงตัว ค่าฝุ่น PM10 มีค่า 22 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์คุณภาพอากาศดีมาก - ค่ามลพิษในอากาศ ค่า โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อยู่ในเกณฑ์ คุณภาพดีมาก ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ(AQI) ของจังหวัดนครพนม อยู่ในระดับคุณภาพอากาศดีมาก ให้คำแนะนำสุขภาพ วันนี้คุณภาพอากาศดีมาก เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง และการเท่องเที่ยว


  1. กอนช. ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังฝนตกหนักต่อเนื่อง พร้อมให้กรมชลประทานและ กฟผ. บริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมช่วงหน้าฝน
  2. ไทย เร่งแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศ น้ำเสีย และขยะสำเร็จในระดับหนึ่ง เพื่อลดสาเหตุการเกิดภาวะโลกร้อนและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
  3. สนทช. เดินหน้าศึกษาการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเร่งรัดวางแผนบริหารจัดการน้ำเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายทั้งระบบ
  4. คพ. ร่วมกับ 7 หน่วยงาน เดินหน้าศึกษาประสิทธิผลของการติดตั้งอุปกรณ์บำบัดไอเสียรถยนต์ สำหรับรถยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ใช้งานเพื่อการพาณิชย์
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.