• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

"วราวุธ" ย้ำ ไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านสมุทรศาสตร์ จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเข้ามาเป็นกลไกทางปัญญาจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หลังพบคนไทยมีความรู้ด้านสมุทรศาสตร์เพียงร้อยละ 10

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 สิงหาคม 2565

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย้ำ ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านสมุทรศาสตร์ จึงจำเป็นต้องเร่งพัฒนาเข้ามาเป็นกลไกทางปัญญาจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หลังพบคนไทยมีความรู้ด้านสมุทรศาสตร์เพียงร้อยละ 10

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อทะเลที่ยั่งยืน” ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์ทางทะเลครั้งที่ 7 จัดโดย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง , สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่า การพัฒนาบุคลากรเข้ามาจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำเป็นต้องติดอาวุธทางปัญญาเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องกับแนวคิดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 แนวคิดของโลกปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะเรื่องของสมุทรศาสตร์ที่มีพื้นที่มหาสมุทรมากกว่าร้อยละ 70 แต่ปัจจุบันพบมนุษย์สามารถศึกษาวิจัยได้เพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ขณะที่คนไทยมีความรู้เรื่องสมุทรศาสตร์ไม่ถึงร้อยละ 10 จำเป็นต้องเพิ่มความรู้ด้านกลไกทางทะเลให้มากขึ้น โดยเริ่มจากยกระดับและพัฒนาการศึกษาของเยาวชนมาสร้างงานวิจัยและอนุรักษ์ทรัพยากร ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนมิถุยายนที่ผ่านมาบนเวทีการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยมหาสมุทร ครั้งที่ 2 ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการจัดการขยะทะเล การแก้ปัญหามลพิษทางทะเล การจัดการความเป็นกรดในมหาสมุทร และการจัดการประมงผิดกฎหมายให้สอดรับกับการดำเนินการทศวรรษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยวิทยาศาสตร์ทางมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2021 – 2030 เพื่อมุ่งลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งทะเลว่า จะนำเรื่องการทำแนวกำแพงคลื่นกลับมาทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่อีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันปัญหาของการกัดเซาะชายฝั่งของไทยยังคงได้รับผลกระทบต่อเนื่องมากกว่า 800 กิโลเมตร จากพื้นที่ชายฝั่งของประเทศไทยประมาณ 3,151 กิโลเมตร หรือในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล โดยเชื่อจะเป็นแนวทางการแก้ปัญหาการกัดเซาะฝั่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแล้ว


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.