• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (8 ก.ค.65) ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก มีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.จันทบุรี 187 มิลลิเมตร , ตราด 128 มิลลิเมตร และน่าน 76 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 43,734 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 53 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง ทั้งนี้ กอนช.ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมทรัพยากรน้ำ ได้ร่วมกับประชาชนติดตั้งเครื่องสูบน้ำสูบน้ำจากลำทะเมนชัย เดิมสระน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาหมู่บ้านบ้านหนองจานเหนือ ต.ช่องแมว อ.ลำทะเมนชัย จ.นครราชสีมา เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน 185 หลังคาเรือน รวม 853 คน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังน้ำหลาก – ดินถล่มใน 7 จังหวัด ขณะที่กองบัญชาการกองทัพไทยและกรมทรัพยากรน้ำเร่งหาแหล่งน้ำแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (7 ก.ค.65) ว่า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยช่วงวันที่ 7 - 10 กรกฎาคมประเทศไทยตอนบนจะมีฝนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.น่าน109 มิลลิเมตร , นราธิวาส 56 มิลลิเมตร และอุดรธานี 52 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังน้ำหลาก - ดินถล่ม บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย น่าน ระยอง จันทบุรี ตราด และพังงา ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,805 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 53 พร้อมเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ กิ่วคอหมา กิ่วลม และน้ำพุง

ทั้งนี้ กอนช.ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เร่งพัฒนาบ่อน้ำบาดาลเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคให้กับประชาชนในพื้นที่ อ.เมืองลำพูน จ.ลำพูน ส่วนกรมทรัพยากรน้ำ เร่งทำโครงการก่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ห้วยทับทัน,ห้วยพอก ต.ยางสว่าง อ.รัตบุรี จ.สุรินทร์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  6 กรกฎาคม 2565

ประเทศอาเซียนตอนล่าง 5 ประเทศ เดินหน้าแผนพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควันข้ามแดนปีนี้ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม โดยเฉพาะการเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุในภาคใต้ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ เรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 23 (23’d MSC) ร่วมกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนา ประเทศเนการาบรูไนดารุสซาลาม , รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรน้ำประเทศมาเลเซีย และรัฐมนตรีอาวุโสแห่งรัฐในกระทรวงความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐสิงคโปร์ ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อรับรองผลการประชุมคณะทำงานภายใต้รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม 5 ประเทศ โดย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า แต่ละประเทศได้รายงานการเตรียมพร้อมรับมือหมอกควันข้ามแดนในอาเซียนตอนล่าง ซึ่งไทยได้เตรียมแผนป้องกันไฟไหม้ป่าพรุในพื้นที่ภาคใต้ การรับมือสถานการณ์ปัญหาหมอกควันข้ามแดน และการใช้แบบจำลองคาดการณ์สถานการณ์คุณภาพอากาศล่วงหน้า 7 วันช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมนี้ ทั้งนี้ ที่ประชุมยังพิจารณากลยุทธการจัดการป่าพรุในพื้นที่อาเซียนตอนล่าง เพื่อให้การแก้ปัญหาไฟจากป่าพรุโดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้มีการจัดการอย่างยั่งยืน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า หน้าแล้งของภูมิภาคอาเซียนตอนล่างช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของทุกปี จะเป็นช่วงหน้าแล้งของภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง ทำให้มีโอกาสเกิดไฟป่าในพื้นที่ป่าพรุ ทั้งป่าพรุภายในประเทศและป่าพรุบริเวณเกาะสุมาตรา ซึ่งสถานการณ์ไฟป่าดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันข้ามแดนส่งผลกระทบภาคใต้ของไทยและภูมิภาคอาเซียนตอนล่าง จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมภายในประเทศ โดย คพ.ได้จัดประชุมหน่วยงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในภาคใต้เตรียมรับมือสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในภาคใต้ปีนี้ เบื้องต้นรัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำชับให้ทุกหน่วยงานกำหนดแผน ดำเนินมาตรการป้องกัน และแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับประชาชนและสร้างเครือข่ายความร่วมมือเฝ้าระวังไฟไหม้ป่าพรุ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน และการท่องเที่ยว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 กรกฎาคม 2565

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะเดินทางไปมหาวิทยาลัยทากะซากิ ในจังหวัดกุนมะ เพื่อร่วมประชุมหารือกับ ดร.ทาเคชิ มิซึกุจิ (Takeshi Mizuguchi) อธิการบดีมหาวิทยาลัย และคณะ เพื่อขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต ทั้งนี้ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) กล่าวว่า พอใจต่อความสำเร็จในการเจรจาหารือครั้งนี้ พร้อมจะทำความตกลงลงนาม MOU กับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ด้านแมลง เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาแมลงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากโปรตีนทางเลือกใหม่ภายใต้นโยบายอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และนโยบายฮับแมลงโลกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยังสอดรับกับแนวทางขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ที่ประกาศให้ แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก

นอกเหนือจากการนำเข้าจิ้งหรีดผง โดยพัฒนาการเลี้ยงด้วยอาหารที่ผลิตจากเศษอาหารเหลือใช้แล้ว มหาวิทยาลัยทากะซากิ มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านเศรษฐศาสตร์ผู้บริโภค จะช่วยพัฒนานโยบายตลาดนำการผลิตได้อีกทางหนึ่งด้วย ประการสำคัญคือ การสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้และธุรกิจใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรจากจุดแข็งที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพและแมลงเศรษฐกิจ

นายสมศักดิ์ วิวิธเกยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว กล่าวว่า ตลาดอาหารจากแมลงในประเทศญี่ปุ่นมีศักยภาพในการเติบโตสูง ปัจจุบันผู้บริโภคและผู้ผลิตอาหารจากแมลงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนญี่ปุ่นให้ความสนใจกับอาหารจากแมลงมากขึ้น ปัจจุบันมีการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลง อาทิ ข้าวเกรียบผสมผงจิ้งหรีด คุ้กกี้ ราเมนจิ้งหรีด ฯลฯ จึงนับเป็นโอกาสของประเทศไทยในการขยายตลาดมายังประเทศญี่ปุ่น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 กรกฎาคม 2565

รองนายกรัฐมนตรี เร่งยกระดับบริหารจัดการน้ำในประเทศไทยและพื้นที่ศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยการใช้องค์ความรู้เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำให้กับประชาชน

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้กล่าวในงานเสวนา “ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC” ส่วนหนึ่งของโครงการ“การหารือระดับชาติเรื่องน้ำในประเทศไทยและพื้นที่ศึกษาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก”หรือ“EEC” จัดโดย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับ กระทรวงสิ่งแวดล้อมสาธารณรัฐเกาหลี สภาน้ำแห่งเชีย (AWC) และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ภายใต้“โครงการข้อริเริ่มความร่วมมือด้านน้ำกรอบระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2020-2024” ว่า เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นต่อข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งครอบคลุมการบริหารจัดการความต้องการใช้น้ำ มาตรการกลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและสุขาภิบาลในพื้นที่ EEC และช่องว่างของกลไกทางการเงิน เทคโนโลยี นวัตกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อนำไปสู่การจัดทำร่างรายงานเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC ฉบับสุดท้ายที่สมบูรณ์ ก่อนนำไปปรับใช้จริงให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาทรัพยากรน้ำในพื้นที่ EEC โดยเร็ว โดยเฉพาะปรับใช้ให้ตรงตามบริบทของประเทศไทย เนื่องจากการบริหารจัดการน้ำจำเป็นต้องพัฒนาตลอดเวลา ทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติการ เพื่อให้ปัจจัยพื้นฐานของประเทศมีความมั่นคงส่งผลถึงการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ

ขณะที่ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนของประเทศ พร้อมได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมาเป็นเข็มทิศการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากน้ำตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ระหว่างปี 2561-2580 สิ่งสำคัญการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบจะสำเร็จได้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งภายในประเทศและพันธมิตรจากต่างประเทศด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  3 กรกฎาคม 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องชาวบางสะพานเป็นอย่างมาก จึงได้มอบหมายให้นายเอนก ก้านสังวอน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล ลงพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ติดตามความก้าวหน้างานขุดลอกคลองบางสะพานและคูคลองในพื้นที่อำเภอบางสะพาน เพื่อกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เตรียมความพร้อมรองรับฤดูน้ำหลาก รวมถึงตรวจสภาพพื้นที่ เพื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่ง และการตื้นเขินของแม่น้ำลำคลองที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ ตลอดจนรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะตลิ่งพังทลาย บริเวณพื้นที่คลองกรูด หมู่ที่ 4 บ้านหนองระแวง ตำบลธงชัย อำเภอบางสะพาน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องและประชาชนที่อยู่ริมคลองฯ ร่วมให้ข้อมูลและข้อเสนอแนะต่างๆ

ผู้อำนวยการสำนักเครื่องจักรกล เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมชลประทานอยู่ระหว่างดำเนินการขุดลอกขยายคลองบางสะพาน ระยะสุดท้าย ซึ่งในการดำเนินงานที่ผ่านมา กรมชลประทาน ได้รับความร่วมมือจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและประชาชนที่อยู่ริมคลองเป็นอย่างดี ทำให้การทำงานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย และในส่วนของคลองกรูด ม.4 ตำบลธงชัย ต้องขอขอบคุณนายเลิศยศ แย้มพราย นายอำเภอบางสะพาน และพี่น้องชาวอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ได้สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน บูรณาการร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเตรียมพร้อมรับมือฤดูน้ำหลากต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 กรกฎาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (2 ก.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.เชียงราย 149 มิลลิเมตร , เชียงใหม่ 107 มิลลิเมตร และมุกดาหาร 106 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 43,974 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 54 โดย กอนช.ยังคงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ามาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ต่อเนื่อง อย่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งทำโครงการศึกษาและประเมินปริมาณการสูบน้ำบาดาลที่ปลอดภัยในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาลปีงบประมาณ 2565 ในพื้นที่การเกษตร จ.พระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี เพื่อนำมาเป็นข้อมูลปรับปรุงแบบจำลองทางคณิตศาสตร์น้ำบาดาลในการประเมินสถานการณ์น้ำบาดาล และจัดทำค่าปริมาณการสูบน้ำบาดาลที่ปลอดภัยในเขตวิกฤตการณ์น้ำบาดาล เพื่อการใช้น้ำบาดาลอย่างอนุรักษ์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 กรกฎาคม 2565

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เร่งสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และมีทักษะ เพื่อเสริมการปฏิบัติการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมี และปกป้องประชาชนจากภาวะมลพิษต่างๆ

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เห็นความจำเป็นและความสำคัญของปัญหามลพิษจากอุบัติภัยสารเคมี การปกป้องประชาชนจากภาวะมลพิษต่างๆ การสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ให้มีความรู้และมีทักษะเพื่อเสริม-สนับสนุนการปฏิบัติการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมีให้มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน จึงได้จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมีระดับเทคนิค” ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เพื่อให้ความรู้และทักษะการวางแผนเตรียมการ การฝึกปฏิบัติในการตอบโต้เหตุฉุกเฉินจากสารเคมี การใช้เครื่องมือเพื่อตรวจสอบบ่งชี้กากของเสียและไอระเหยสารเคมีในภาคสนาม แล้วนำความรู้ไปต่อยอดการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและแก้ปัญหา รวมถึง การสร้างเครือข่ายหน่วยงานท้องถิ่นและภาคประชาชนในพื้นที่ต่อไป หากเกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมี สามารถโทรแจ้งได้ที่ สายด่วน 1650 ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเกิดเหตุอุบัติภัยสารเคมีรั่วไหล เหตุระเบิด และเพลิงไหม้โรงงานที่มีการสะสมสารเคมีและวัตถุอันตรายเป็นระยะๆตั้งแต่ปี 2560 – 2564 ประมาณ 180 ครั้ง พบเป็นอุบัติภัยจากโรงงานอุตสาหกรรม 93 ครั้ง // การขนส่งสารเคมี 41 ครั้ง // ไฟไหม้บ่อขยะ 25 ครั้ง // โกดังเก็บสารเคมี 15 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเหตุเพลิงไหม้โรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการผลิตและแปรรูปพลาสติก โรงงานผลิตสารเคมี โรงงานรีไซเคิล ร้านรับซื้อของเก่าและวัสดุรีไซเคิลไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ซึ่งในหลายกรณีเมื่อเกิดเหตุแล้วก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้าง

สำหรับเหตุการณ์เพลิงไหม้สำคัญช่วงที่ผ่านมาที่กระทบสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่ เช่น เหตุระเบิดเพลิงไหม้โรงงาน บริษัท หมิงตี้ เคมิคอล จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ แรงระเบิดทำให้บ้านเรือนในพื้นที่โดยรอบเสียหายเป็นมูลค่ามากกว่า 400 ล้านบาท มลพิษจากเขม่าควันและไอระเหยสารเคมีส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบในรัศมีไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร // เหตุเพลิงไหม้โรงงานรับกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด จังหวัดราชบุรี ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ด้านท้ายลม


  1. กนช. มีมติเดินหน้าแผนบริหารจัดการน้ำประเทศ ด้วยการเร่งรัดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ 4 โครงการ เพื่อเสริมความมั่นคงด้านน้ำทุกภาคส่วน
  2. กรมอุทยานฯ เร่งจัดทำเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์ประกอบแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา เพื่อแก้ปัญหาที่ดินที่มีความขัดแย้งมายาวนาน โดยเฉพาะป่าอนุรักษ์
  3. กอนช. ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล ขณะที่ กทม.เร่งขุดลอกคลองเปิดทางน้ำให้ไหลรองรับฝนที่จะตกลงมา
  4. กอนช.ขอให้ประชาชนระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลใน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี เพื่อหาน้ำอุปโภค-บริโภค
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.