• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยโดยด่วนไม่ต้องรอน้ำลด

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 ตุลาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัยโดยด่วนไม่ต้องรอน้ำลด

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 ต.ค.65) ว่า ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ถึงวันนี้ (22 ต.ค.65) ใน จ.ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสตูล เนื่องจากภาคใต้ยังมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดย 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.นราธิวาส ประจวบคีรีขันธ์ และตราด ทั้งนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่เกิดอุทกภัยใน 34 จังหวัด คือ พิจิตร นครสวรรค์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี นครปฐม นครนายก สุพรรณบุรี สระบุรี ขอนแก่น หนองบัวลำภู มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต สงขลา ชุมพร และตรัง ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 67,753 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 83

ทั้งนี้ กอนช. ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจพื้นที่น้ำท่วม เยียวยา และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมให้เร็วที่สุด โดยไม่ต้องรอน้ำลด เบื้องต้นกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ เตรียมพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่และเครื่องจักรกลสาธารณภัยเพื่อออกช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัย เช่น การกำจัดวัชพืช ขยะตามเส้นทางน้ำ การพร่องน้ำในแหล่งน้ำ การเร่งระบายน้ำ การเปิดทางน้ำ การผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม เมื่อสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่คลี่คลาย ให้เร่งสำรวจผลกระทบและความเสียหายในด้านต่างๆ พร้อมให้ความช่วยเหลือเยียวยาต่อไป

ด้าน กรมโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เร่งสำรวจความเสียหายของที่อยู่อาศัย อาคารสิ่งปลูกสร้าง ยุ้งข้าว โรงเรือน และสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พร้อมช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยทันที โดยจัดตั้งคณะทำงานสำรวจความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยเข้าสำรวจประมาณราคาความเสียหาย เพื่อใช้เป็นข้อมูลพิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบภัย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.