• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

"สุรสีห์" ได้ให้กรมชลประทานปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาและป่าสักลงต่อเนื่องลดผลกระทบให้ประชาชน พร้อมย้ำ การระบายน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์ไม่กระทบรังสิตและ กทม.

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 ตุลาคม 2565

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ให้กรมชลประทานปรับลดการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาและป่าสักลงต่อเนื่องลดผลกระทบให้ประชาชน พร้อมย้ำ การระบายน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์ไม่กระทบรังสิตและกรุงเทพมหานคร

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่างๆในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำและวางแผนการบริหารจัดการน้ำในการเร่งระบายออกสู่ทะเลโดยเร็ว บริเวณประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์ อ.หนองแค จ.สระบุรี , จุดก่อสร้างบริเวณประตูระบายน้ำคลอง 14 อ.องครักษ์ จ.นครนายก , สถานีสูบน้ำสมบูรณ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก , จุดก่อสร้างประตูระบายน้ำบางขนาก , จุดก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลองพระองค์ไชยานุชิต อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พบระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลงกรมชลประทานจึงได้เริ่มลดการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาต่อเนื่องลดผลกระทบประชาชนด้านท้าย ปัจจุบันการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 3,154 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เช่นเดียวกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้ลดการระบายน้ำอยู่ที่ 721 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้การระบายน้ำท้ายเขื่อนพระราม 6 ลดลงอยู่ที่ 1,010 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ยังคงการระบายน้ำออกไปทางคลองระพีพัฒน์เพื่อลดผลกระทบด้านท้ายเขื่อนพระราม 6 ไม่ให้ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด พร้อมยืนยันการระบายน้ำมาทางคลองระพีพัฒน์ไม่กระทบรังสิตและกรุงเทพมหานครแน่นอน แต่ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นช่วงนี้จากน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เร่งเสริมคันชั่วคราวในจุดฟันหลอต่างๆไม่ให้น้ำไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่แล้ว

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวย้ำว่า ศูนย์ส่วนหน้าฯภาคกลาง จ.ชัยนาท ภายใต้ กอนช.ได้เร่งดำเนินการ 6 แนวทางเพื่อเร่งระบายน้ำหลากออกจากพื้นที่ท่วมขังโดยเร็วลดผลกระทบให้ประชาชนท้ายเขื่อนเจ้าพระยา คือ ลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนวังร่มเกล้า เขื่อนพระรามหก แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อยลงตามสัดส่วนของปริมาณน้ำที่ลดลง // ลดการรับน้ำไหลย้อนผ่านประตูผักไห่โดยให้กดบานลงตามระดับน้ำที่ลดลง // ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจากทุ่งผักไห่ลงสู่ทุ่งเจ้าเจ็ดโดยเร็ว // ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเร่งระบายน้ำออกจากคลองพระยาบันลือ โดยให้เร่งสูบลงด้านแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก // ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ปรับลดการรับน้ำลงสู่ทุ่งบางกุ่มและบางกุ้งโดยให้พิจารณาผลกระทบเขต จ.อ่างทองไม่ให้น้ำเพิ่มขึ้นจนไหลล้นแนวป้องกัน และสุดท้าย ให้เร่งอุดช่องขาดคันคลองชัยนาท-อยุธยา 5 แห่งให้เสร็จโดยเร็ว


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.