• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เร่งระบายน้ำเหนือให้ไหลออกสู่ทะเลรองรับปริมาณน้ำฝนรอบใหม่ช่วงต้น ก.ย.นี้ โดยขอให้แจ้งเตือนท้ายน้ำล่วงหน้าหากเขื่อนปรับเพิ่มการระบายน้ำ

สำนักข่าว กรมประ่ชาสัมพันธ์  26 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เร่งระบายน้ำเหนือให้ไหลออกสู่ทะเลรองรับปริมาณน้ำฝนรอบใหม่ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ โดยขอให้แจ้งเตือนท้ายน้ำล่วงหน้าหากเขื่อนปรับเพิ่มการระบายน้ำ เบื้องต้นกรมชลประทานเร่งพร่องน้ำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเก็บเกี่ยวข้าวก่อนน้ำหลากหรือใช้เป็นทุ่งรับน้ำ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มทรงตัวและลดลง เบื้องต้นกรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นช่วงเดือนกันยายน จากร่องมรสุมที่จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น อาจส่งผลให้มีฝนตกเกิดน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับน้ำหลาก โดยให้กรมชลประทานพิจารณาพร่องระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาให้มีพื้นที่รองรับน้ำหลากและหน่วงชะลอน้ำ ควบคู่กับแจ้งเตือนประชาชนเตรียมรับมือล่วงหน้าหากจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ทั้งนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสูบน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเร็วและให้ปฏิบัติตามมาตรการเตรียมรับมืออุทกภัย ทั้งการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร-เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที ส่วนกรณีจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำให้กรมชลประทานแจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะเดียวกัน กรมชลประทาน ยังเร่งพร่องน้ำในคลองชลประทานต่างๆในเขตพื้นที่ชลประทาน ให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมการหากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นทุ่งรับน้ำหลากในช่วงตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้ กล่าวถึงเกณฑ์การบริหารจัดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยากรณีมีการระบายน้ำและอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมด้านท้ายน้ำหรือเหนือน้ำ

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ให้หน่วยงานขออนุญาตต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำล่วงหน้า 3 วัน เพื่อพิจารณาเห็นชอบหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้ขออนุญาตประธานคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นชอบและให้รายงานคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งในการอนุญาตกำหนดให้ปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแบบขั้นบันได แล้วต้องบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.