• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช.เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำวัง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลล้นตลิ่ง หลังเขื่อนกิ่วลมและเขื่อนเเควน้อยบำรุงแดนปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำกระทบหลายพื้นที่ พร้อมเร่งเตรียมพร้อมบางพื้นที่เป็นทุ่งรับน้ำช่วง ก.ย.

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำวัง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลล้นตลิ่ง หลังเขื่อนกิ่วลมและเขื่อนเเควน้อยบำรุงแดนปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำกระทบหลายพื้นที่ พร้อมเร่งเตรียมพร้อมบางพื้นที่เป็นทุ่งรับน้ำช่วงเดือนกันยายน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (28 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.ตาก 83 มิลลิเมตร , พัทลุง 73 มิลลิเมตร และระยอง 31 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำวังล้นตลิ่ง หลังเขื่อนกิ่วลมปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำเป็น 201 – 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่งสองฝังแม่น้ำวังใน จ.ลำปาง และตาก // เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชีล้นตลิ่งใน จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ถึงวันที่ 31 สิงหาคม // เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำมูลล้นตลิ่ง ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ บริเวณ อ.ราษีไศล ยางชุมน้อย อุทุมพรพิสัย เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์ ด้านเขื่อนเเควน้อยบำรุงแดน ปรับเพิ่มการระบายน้ำ จาก 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 220 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 51,614 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 63 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ และบึงบอระเพ็ด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเลเตรียมรองรับฝนรอบใหม่ ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มทรงตัวและลดลง โดยกรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากคาดการณ์ช่วงเดือนกันยายนร่องมรสุมที่จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและเกิดน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับน้ำหลาก จึงขอให้

กรมชลประทานพิจารณาพร่องน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยาให้มีพื้นที่รองรับน้ำหลากและหน่วงชะลอน้ำ

ขณะเดียวกันให้เร่งสูบน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเร็วที่สุดตามมาตรการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย ทั้งการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง การเตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร - เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เข้าช่วยเหลือได้ทันที ส่วนกรณีจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำให้กรมชลประทานแจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้งนี้ กรมชลประทานยังเร่งพร่องน้ำในคลองชลประทานต่างๆในเขตพื้นที่ชลประทานให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้วเสร็จ หากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นทุ่งรับน้ำหลากช่วงตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.