สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 18 กันยายน 2565
นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า จากการประชุมเรื่องทิศทางการแก้ไขปัญหาช้างป่า เพื่อระดมความเห็นการจัดการช้างป่าของประเทศให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมหาทางป้องกันแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่การอนุรักษ์และจัดการช้างป่าของประเทศให้มีประสิทธิภาพไปในทางทิศทางเดียวกัน โดยที่ผ่านมากรมอุทยานฯไม่ได้นิ่งนอนใจปัญหาดังกล่าว ทั้งการทุ่มเทสรรพกำลัง ผู้เชี่ยวชาญผู้มีความรู้เรื่องการจัดการสัตว์ป่ามาดูแล และแก้ปัญหาเรื่องนี้ในทุกมิติอย่างเต็มที่
ปัจจุบันช้างป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติประมาณ 3,168 – 3,483 ตัว อยู่ในพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 31 แห่ง , อุทยานแห่งชาติ 38 แห่ง และป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง โดยมีพื้นที่เป็นแหล่งอาศัยของช้างป่าประมาณ 52,000 ตารางกิโลเมตร ภาพรวมพบกลุ่มป่าที่มีประชากรช้างป่าอาศัยอยู่มากคือ กลุ่มป่าตะวันตก , กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ , กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว , กลุ่มป่าแก่งกระจาน และกลุ่มป่าตะวันออก ซึ่งมีแนวโน้มประชากรช้างป่าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นไม่มากนักจากอดีต แต่ถือเป็นเรื่องที่ดีที่พบประชากรช้างป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายแห่งในประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ด้านนายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า ปัญหาหลักของการอนุรักษ์และการจัดการช้างป่าคือ การลดลงของทั้งขนาดและคุณภาพของถิ่นอาศัยและปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์กว่า 49 แห่ง แบ่งเป็น พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 29 แห่ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 20 แห่ง ซึ่งการจัดการช้างป่าจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้แบบสหวิทยาการและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้การอนุรักษ์ การจัดการ และการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ เช่น ความรู้เรื่องลักษณโครงสร้างและพฤติกรรมของช้างป่า การจัดการแหล่งที่อยู่อาศัย การจัดการแหล่งอาหารสัตว์ป่า การป้องกันให้ถิ่นอาศัยและช้างป่าได้รับการคุ้มครองและมีความปลอดภัย ลักษณะสภาพชุมชนและพื้นที่โดยรอบ และการจัดการช้างป่าแบบมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย