กอนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 22 จังหวัด พร้อมปรับแผนการบริหารจัดการน้ำและเร่งระบายน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก
- pratip
- ข่าวสิ่งแวดล้อม
สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 25 สิงหาคม 2565
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 22 จังหวัด พร้อมปรับแผนการบริหารจัดการน้ำและเร่งระบายน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากรองรับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (25 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.บุรีรัมย์ 121 มิลลิเมตร , นครราชสีมา 112 มิลลิเมตร และปราจีนบุรี 82 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก กาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด และเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชีล้นตลิ่งในพื้นที่ จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี ช่วงวันที่ 26 – 31 สิงหาคมนี้ ขณะเดียวกันยังต้องเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาถึงวันที่ 29 สิงหาคม จะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.90 – 2.20 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 51,154 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 62 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ หนองปลาไหล และบึงบอระเพ็ด
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง ภาพรวมระยะนี้ประเทศจะมีแนวโน้มฝนตกลดลง แต่บางจุดยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักในบางพื้นที่ โดยประเมินสภาพฝนพบฝนจะกลับมาตกเพิ่มขึ้นถึงวันที่ 27 สิงหาคมนี้ แล้วลดลงอีกครั้งช่วงวันที่ 28 - 29 สิงหาคมนี้ จะมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์แนวโน้มพายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย พร้อมได้กำชับให้หน่วยงานทีเกี่ยวข้องปรับแผนการบริหารจัดการน้ำและเร่งระบายน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ฝนตกน้อยลงเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำไว้ล่วงหน้า แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน
ทั้งนี้ ยังให้กรมชลประทานประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบันมีการระบายน้ำในอัตรา 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที // เขื่อนอุบลรัตน์ ปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันไดจาก 15-25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จนถึงวันที่ 27 สิงหาคมนี้ // เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปรับการระบายเป็น 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จนถึงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ปัจจุบันลุ่มน้ำป่าสักตอนบนระดับน้ำเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ซึ่งปริมาณน้ำหลากนี้จะไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และบริเวณลุ่มน้ำป่าสักตอนล่างท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง โดยได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้ว