• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 11 จังหวัด ช่วง 8 – 11 ธ.ค. พร้อมระวังปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางสูงขึ้นจากฝนตกหนักต่อเนื่อง

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 ธันวาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 11 จังหวัด ช่วงวันที่ 8 – 11 ธันวาคม พร้อมระวังปริมาณน้ำในเขื่อนบางลางสูงขึ้นจากฝนตกหนักต่อเนื่อง

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ ฉบับที่ 56 หลังกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์สภาพอากาศพบจะมีฝนตกหนักช่วงวันที่ 8 - 9 ธันวาคม จากอิทธิพลร่องมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับ ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่างและหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณเกาะบอร์เนียวจะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซีย ทำให้บริเวณภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง เบื้องต้นได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ช่วงวันที่ 8 – 11 ธันวาคม จำเป็นต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมขังใน จ.ชุมพร บริเวณอำเภอละแม // ภูเก็ต บริเวณอำเภอถลาง และเมืองภูเก็ต // สุราษฎร์ธานี บริเวณอำเภอกาญจนดิษฐ์ ท่าชนะ ไชยา ท่าฉาง พุนพิน ดอนสักและเมืองสุราษฎร์ธานี // นครศรีธรรมราช บริเวณอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ขนอม สิชล ท่าศาลา พรหมคีรี ปากพนัง นบพิตำ และพระพรหม // พัทลุง บริเวณอำเภอเขาชัยสน ควนขนุน บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน และกงหรา // สงขลา บริเวณอำเภอกระแสสินธุ์ ระโนด เทพา รัตภูมิ ควนเนียง หาดใหญ่ สทิงพระ และจะนะ // ตรัง บริเวณอำเภอกันตัง // สตูล บริเวณอำเภอเมืองสตูล // ปัตตานี บริเวณอำเภอไม้แก่น หนองจิก โคกโพธิ์ สายบุรี กะพ้อ ยะหริ่ง ทุ่งยางแดง และมายอ // ยะลา บริเวณอำเภอรามัน เมืองยะลา และยะหา // นราธิวาส บริเวณอำเภอเมืองนราธิวาส ตากใบ เจาะไอร้อง บาเจาะ ยี่งอ แว้ง สุไหโก-ลก สุคิริน และรือเสาะ

พร้อมทั้ง ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำชุมพร คลองหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง แม่น้ำตะกั่วป่า แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก รวมทั้ง เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำโดยเฉพาะเขื่อนบางลางให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

ทั้งนี้ กอนช.ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ พร้อมปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและอิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล ด้วยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.