• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมชลประทาน เร่งซ่อมแซมระบบชลประทาน เตรียมความพร้อมใช้งานช่วงหน้าแล้ง

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 ธันวาคม 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลัง ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการเตรียมความพร้อมการส่งน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาผักไห่ พร้อมพบปะเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ว่าปัจจุบัน สถานการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันประมาณ 14,098 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึง 6,000 ล้าน ลบ.ม.

ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี แต่หากเปรียบเทียบปริมาณน้ำระหว่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะเห็นได้ว่าเขื่อนสิริกิติ์มีปริมาณน้ำน้อยและการใช้น้ำส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน ซึ่งมีพื้นที่ชลประทานมากกว่า 1 ล้านไร่ ขณะที่เขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำมากกว่า และการใช้น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงจนถึงลุ่มน้ำเจ้าพระยาน้อยกว่า ทำให้การบริหารจัดการน้ำในปีนี้

กรมชลประทาน จะใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพลเป็นหลักสำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่สำนักงานชลประทานที่ 12 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางรวมประมาณ 518 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 98% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 458 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละพื้นที่ ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ อุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร และอุตสาหกรรม ตามลำดับ และอีกส่วนหนึ่งจะสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2566

ด้านสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลาง ปัจจุบันหลายจังหวัดได้กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือเพียงบริเวณคลองระบายใหญ่สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ยังมีน้ำล้นตลิ่ง กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 32 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 28 เครื่อง เร่งระบายน้ำที่ท่วมขัง เพื่อให้ประชาชนกลับไปดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติโดยเร็ว ส่วนการบริหารจัดการน้ำในทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ ได้แก่ ทุ่งป่าโมก คงเหลือน้ำค้างทุ่งไว้ให้เกษตรกรได้เตรียมแปลงเพาะปลูก ส่วนทุ่งผักไห่และทุ่งโพธิ์พระยา อยู่ระหว่างเร่งระบายน้ำออกจากทุ่ง และจะคงเหลือน้ำค้างทุ่งไว้ให้เกษตรกรได้เตรียมแปลงเพาะปลูกเช่นกัน คาดว่าจะสามารถระบายน้ำออกเสร็จสิ้นในช่วงกลาง-ปลายเดือนธันวาคม 2565 นี้ และแม้ว่าภาพรวมในปีนี้จะมีน้ำมากกว่าปีที่แล้ว แต่กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำอย่างคุ้มค่ามากที่สุด จึงอยากฝากทุกภาคส่วนช่วยกันรณรงค์ประหยัดน้ำ เพื่อให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.