• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ไทย สำรวจประชากรพะยูนปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 300 ตัว หลังคุมเข้มมาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟู พร้อมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อการอนุรักษ์

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 ธันวาคม 2565

ประเทศไทย สำรวจประชากรพะยูนปีนี้เพิ่มขึ้นเกือบ 300 ตัว หลังคุมเข้มมาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟู พร้อมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อการอนุรักษ์

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวถึงสถานภาพพะยูนไทยว่า จากการสำรวจสถานภาพปี 2565 พบพะยูนประมาณ 273 ตัว แบ่งเป็น ฝั่งอ่าวไทยประมาณ 31 ตัว และฝั่งทะเลอันดามันพบ 242 ตัว โดยประชากรพะยูนมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นกว่าในอดีต แต่ยังมีการเกยตื้นหรือการตายของพะยูนอยู่ทุกปี สาเหตุการตายมาจากการเจ็บป่วย ลูกพะยูนพลัดหลงจากแม่ ถูกกระแทกด้วยของแข็ง เงี่ยงปลากระเบนแทง อุบัติเหตุ เครื่องมือประมง ภาพรวมการเกยตื้นของพะยูนระหว่างเดือนตุลาคม 2564 - กันยายน 2565 พบพะยูนเกยตื้นรวม 18 ตัว ส่วนใหญ่สาเหตุเกิดจากการป่วยร้อยละ 73 ส่วนระหว่างเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565 พบพะยูนเกยตื้นรวม 7 ตัว เป็นการเกยตื้นในจังหวัดระยอง 1 ตัว , ชลบุรี 1 ตัว , ตรัง 2 ตัว , กระบี่ 1 ตัว , สุราษฎร์ธานี 2 ตัว สาเหตุจากการป่วย 3 ตัวร้อยละ 43 // ถูกกระแทกด้วยของแข็ง (กระดูกซี่โครงหัก) 2 ตัว ในจังหวัดตรังและชลบุรี //การป่วยร่วมกับคาดว่าติดเครื่องมือประมง 1 ตัว และไม่ทราบสาเหตุจากสภาพซากเน่ามาก 1 ตัว ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เร่งบูรณาการร่วมกับจังหวัด องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ชุมชนชายฝั่ง ผู้ประกอบการ และอาสาสมัครพิทักษ์ทะเลอนุรักษ์และฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากทุกชนิด โดยเฉพาะพะยูนที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาได้ทำงานแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูนและสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทยมาโดยตลอดภายใต้“มาเรียมโปรเจค” สามารถเพิ่มจำนวนประชากรพะยูนในธรรมชาติจาก 250 เป็น 273 ตัว แล้วในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 280 ตัว โดย ทช. ยังได้นำเทคโนโลยีโดรนมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ด้วยการบินสำรวจจำนวนประชากรของฝูงพะยูนตรวจสอบจำนวนและวางแผนอนุรักษ์พะยูน แทนการใช้เรือประมงออกลาดตระเวน พร้อมเฝ้าระวังไม่ให้มีคนเข้าไปรบกวนหรือทำประมงผิดกฎหมายที่จะเป็นอันตรายต่อฝูงพะยูนได้

สำหรับพะยูนในประเทศไทยพบแพร่กระจายอยู่บริเวณแหล่งหญ้าทะเลทั้งอ่าวไทยและอันดามัน แบ่งเป็นกลุ่มประชากรย่อยที่อาศัยอยู่บริเวณเกาะต่างๆ คือ เกาะลิบง เกาะมุก และอ่าวสิเกา จังหวัดตรัง , เกาะศรีบอยา เกาะปู เกาะจำ และอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ , เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ อ่าวพังงา จังหวัดพังงา , อ่าวป่าคลอก จังหวัดภูเก็ต , เกาะลิดี เกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล , เกาะพระทอง จังหวัดพังงา , หมู่เกาะกรูด จังหวัดตราด , อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี , ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง , อ่าวสัตหีบ จังหวัดชลบุรี , อ่าวทุ่งคาสวี จังหวัดชุมพร อ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี , อ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี และอ่าวเตล็ด จังหวัดนครศรีธรรมราช


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.