• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  2 กันยายน 2565

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ร่วมกับ 21 หน่วยงาน เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ประชาชนใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างคุ้มค่าและถูกกฎหมาย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน

นางรวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ร่วมกับ 21 หน่วยงาน ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้โครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในพื้นที่ คทช. ถือเป็นการแสดงเจตจำนงและช่วยกันพัฒนาพื้นที่ คทช. โดยการสนับสนุนจัดทำโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวม โดยไม่ให้กรรมสิทธิ์แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เป็นกลุ่มหรือชุมชน ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาการขาดที่ดินทำกินโดยให้ประชาชนผู้ยากไร้ได้มีสิทธิทำกิน และอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ป้องกันการเปลี่ยนมือ การเข้ามาครอบครองของนายทุน และเกษตรกรมีที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน แล้วตกทอดไปถึงลูกหลานได้ พร้อมให้หน่วยงานรัฐเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ไฟฟ้า ประปา เส้นทางคมนาคม และแหล่งน้ำอุปโภค-บริโภคต่างๆ เพื่อให้สามารถลงหลักปักฐานต่อไปในระยะยาวได้ รวมทั้ง ให้พัฒนาและส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่แล้วต่อยอดไปสู่การจัดหาตลาด และช่องทางการกระจายผลผลิตทางการเกษตร เพื่อให้ประชาชนมีรายได้อย่างเพียงพอ มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และพึ่งพาตนเองได้

ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) กล่าวย้ำว่า โครงการบูรณาการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคฯได้ลงนามเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ คือ กรมป่าไม้ กรมที่ดิน กรมธนารักษ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกลุ่มหน่วยงานพัฒนา คือ การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกันให้เกิดการอนุญาตและดำเนินการที่รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะด้านการพัฒนา เส้นทางคมนาคมขนส่ง การพัฒนาแหล่งน้ำ และระบบไฟฟ้าที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับการจัดที่ดินและมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 กันยายน 2565

นายสำเริง แสงภู่วงค์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 15 หน่วยทั่วประเทศแล้ว เนื่องจากการคาดการณ์สภาพอากาศประจำสัปดาห์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม – 5 กันยายน นี้พบว่า ในช่วงต้นสัปดาห์ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางจะพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยกรมฝนหลวงฯ ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำและสภาวะฝนในช่วงเดือนสิงหาคมมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ และในบางพื้นที่ฝนตกชุกหนาแน่น ในส่วนของผลการปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่เปิดหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 145 วัน 1,696 เที่ยวบิน มีวันฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 97 มีจังหวัดที่มีรายงานฝนตกรวม จำนวน 49 จังหวัด มีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับประโยชน์ จำนวน 111 ล้านไร่ และมีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 58 แห่ง สามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ รวม 180 ล้าน ลบ.ม. ครอบคลุมทั่วประเทศ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงที่อาจจะเกิดขึ้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงมีแผนจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ประจำปี 2566 ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมนี้ เป็นต้นไป โดยใช้เครื่องบิน จำนวน 2 ชุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  31 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำระวังระดับน้ำสูงขึ้น หลังปรับเพิ่มการระบายน้ำ โดยเฉพาะจังหวัดอ่างทองและพระนครศรีอยุธยา

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (31 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.นราธิวาส 95 มิลลิเมตร , พัทลุง 65 มิลลิเมตร และยะลา 64 มิลลิเมตร โดยเขื่อนเจ้าพระยา ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเป็น 1,660 - 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง และคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบันน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มลดลง จึงได้ปรับลดการระบายน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำตามเกณฑ์ที่เหมาะสมในอัตรา 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จากเดิม 430 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 51,871 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 63 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 10 แห่ง คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง แควน้อยบำรุงแดน ขุนด่านปราการชล หนองปลาไหล บางพระ นฤบดินทรจินดา และบึงบอระเพ็ด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร ถึงวันที่ 10 กันยายน ในลุ่มน้ำชี บริเวณลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ จ.ชัยภูมิ ,

แม่น้ำชีและลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ยโสธร และร้อยเอ็ด , ลำน้ำยัง จ.กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด // ลุ่มน้ำมูล บริเวณแม่น้ำมูล จ.นครราชสีมา ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี , ลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี , ลำเซบก จ.อุบลราชธานี พร้อมเฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม 6 แห่ง รวมถึง อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 แล้วมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำอย่างลุ่มน้ำชี-มูล ช่วงวันที่ 31 สิงหาคม – 10 กันยายน หลังคาดการณ์จะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนัก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขังและอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก ฉบับที่ 34 โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำชี-มูล ถึงวันที่ 31สิงหาคม พบปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำมูล บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ท้ายจุดบรรจบระหว่างแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ช่วงวันที่ 3 – 8 กันยายน บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก จะมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนัก เบื้องต้นได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำระดับน้ำท่วมขังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร ช่วงวันที่ 31 สิงหาคม – 10 กันยายน คือ ลุ่มน้ำชี บริเวณลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ อำเภอภูเขียว คอนสาร และบ้านแท่น จังหวัดชัยภูมิ // แม่น้ำชีและลำน้ำพอง อำเภอโคกโพธิ์ไชย ชนบท บ้านไผ่ บ้านแฮด พระยืน มัญจาคีรีเมืองขอนแก่น แวงน้อย และแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น , อำเภอกมลาไสย กุฉินารายณ์ ฆ้องชัย ดอนจาน เมืองกาฬสินธุ์ ยางตลาด และร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ , อำเภอกันทรวิชัย กุดรัง โกสุมพิสัย เชียงยืน และเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม , อำเภอค้อวัง คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย และเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร , อำเภอจังหาร และเชียงขวัญ จังหวัดร้อยเอ็ด // ลำน้ำยัง อำเภอนาคู ห้วยผึ้ง เขาวง และกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ , อำเภอโพนทอง เมยวดี และเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ขณะที่ ลุ่มน้ำมูล เฝ้าระวังบริเวณแม่น้ำมูล อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา , อำเภอกันทรารมย์ ยางชุมน้อยและราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ , อำเภอเขื่องใน และเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี // ลำโดมใหญ่ อำเภอเดชอุดม นาจะหลวย และนาเยีย จังหวัดอุบลราชธานี // ลำเซบก อำเภอดอนมดแดง และตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังให้เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมากเกินเกณฑ์ควบคุม 6 แห่ง คือ แม่งัดสมบูรณ์ชล แควน้อยบำรุงแดน น้ำพุง อุบลรัตน์ ขุนด่านปราการชล และนฤบดินทรจินดา รวมถึง ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 แล้วมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ พร้อมทั้ง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ควบคู่กับ ซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำ เร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำและแม่น้ำรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย และจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบจากปริมาณน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 สิงหาคม 2565

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ขยายรณรงค์ลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วและบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไปกลุ่มตลาดทั่วประเทศ

นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้ขยายผลต่อยอดการดำเนินงานปีนี้รณรงค์ลดและเลิกใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว และบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single - use Plastic) ประเภทอื่น ๆ ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ไปยังตลาดทั่วประเทศ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนป้องกันและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติก มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว มาใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ และบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกระตุ้นให้ภาครัฐ เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปเห็นความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งการขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายตลาดทั่วประเทศ ชุมชน และร้านขายของชำ จะช่วยรณรงค์ขยะพลาสติกได้กว้างมากขึ้น ประกอบด้วย ตลาดในสถาบันการศึกษา คือ ตลาดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , ตลาดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี , ตลาดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร , ตลาดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลาดนัดกรมวิชาการเกษตร , ตลาดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลาดนัดกรมป่าไม้ // ตลาดท่องเที่ยวหรือแหล่งท่องเที่ยว คือ ตลาดถนนคนเดินสราญวิถี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , ตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี , ตลาดสดเทศบาลเมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี , ตลาดน้ำโบราณบ้านต้นตาล จังหวัดสระบุรี // ตลาดสดเทศบาลหรือตลาดสดเอกชน คือ ตลาดประชานิเวศน์ 1 ,, ตลาดยิ่งเจริญ , ตลาดสดทุ่งเจริญ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด

สำหรับการป้องกันและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะพลาสติกโดยมุ่งเน้นการลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 14,349 ล้านใบ หรือประมาณ 81,530,000 กิโลกรัม ลดปริมาณถุงพลาสติกที่รัฐต้องกำจัดไปได้ 225,000 ตัน ลดพื้นที่ฝังกลบ 616 ไร่ หรือเกือบ 2 เท่าของสวนลุมพินี แล้วยังช่วยลดปริมาณการผลิตถุงพลาสติกหูหิ้วในภาคอุตสาหกรรมได้ถึงร้อยละ 43 หรือ 150,000 ตัน และช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดินได้ถึง 340 ล้านบาท


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำวัง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลล้นตลิ่ง หลังเขื่อนกิ่วลมและเขื่อนเเควน้อยบำรุงแดนปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำกระทบหลายพื้นที่ พร้อมเร่งเตรียมพร้อมบางพื้นที่เป็นทุ่งรับน้ำช่วงเดือนกันยายน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (28 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.ตาก 83 มิลลิเมตร , พัทลุง 73 มิลลิเมตร และระยอง 31 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำวังล้นตลิ่ง หลังเขื่อนกิ่วลมปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำเป็น 201 – 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่งสองฝังแม่น้ำวังใน จ.ลำปาง และตาก // เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชีล้นตลิ่งใน จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ถึงวันที่ 31 สิงหาคม // เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำมูลล้นตลิ่ง ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ บริเวณ อ.ราษีไศล ยางชุมน้อย อุทุมพรพิสัย เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์ ด้านเขื่อนเเควน้อยบำรุงแดน ปรับเพิ่มการระบายน้ำ จาก 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็น 220 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อาจส่งผลกระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 51,614 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 63 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ และบึงบอระเพ็ด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำเหนือออกสู่ทะเลเตรียมรองรับฝนรอบใหม่ ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มทรงตัวและลดลง โดยกรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากคาดการณ์ช่วงเดือนกันยายนร่องมรสุมที่จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีฝนตกเพิ่มมากขึ้นและเกิดน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับน้ำหลาก จึงขอให้

กรมชลประทานพิจารณาพร่องน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเจ้าพระยาให้มีพื้นที่รองรับน้ำหลากและหน่วงชะลอน้ำ

ขณะเดียวกันให้เร่งสูบน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเร็วที่สุดตามมาตรการเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย ทั้งการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบพร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง การเตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร - เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เข้าช่วยเหลือได้ทันที ส่วนกรณีจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำให้กรมชลประทานแจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มต่ำ ทั้งนี้ กรมชลประทานยังเร่งพร่องน้ำในคลองชลประทานต่างๆในเขตพื้นที่ชลประทานให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้วเสร็จ หากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นทุ่งรับน้ำหลากช่วงตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์   27 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำวังล้นตลิ่ง หลังเขื่อนกิ่วลมปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำ รวมถึง แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลล้นตลิ่งกระทบหลายพื้นที่

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (27 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนเริ่มมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.บึงกาฬ 157 มิลลิเมตร , เพชรบุรี 152 มิลลิเมตร และนครนายก 116 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำวังล้นตลิ่ง หลังเขื่อนกิ่วลมปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำเป็น 201 – 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่งสองฝังแม่น้ำวังใน จ.ลำปาง และตาก // เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชีล้นตลิ่งใน จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ และเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำมูลล้นตลิ่งใน จ.ศรีสะเกษ บริเวณ อ.ราษีไศล ยางชุมน้อย อุทุมพรพิสัย เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 51,480 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 63 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ และบึงบอระเพ็ด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาอ่างเก็บน้ำลำตะโคง จ.บุรีรัมย์ ถูกน้ำกัดเซาะบริเวณรอยต่อทำนบดินกับตัวอาคารระบายน้ำล้น และเกิดการกัดเซาะดินยุบตัวบริเวณรอยต่ออาคารทางระบายน้ำล้น โดยกรมชลประทานได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณด้านท้ายน้ำแล้ว พร้อมเร่งระบายน้ำเพื่อลดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำผ่านทางอาคาร Gate Spillway ในอัตรา 104 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งศักยภาพของลำน้ำด้านท้ายอ่างเก็บน้ำสามารถรองรับได้ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อปิดรอยกัดเซาะดังกล่าวด้วยกระสอบทราย (Big bag) และแผ่นเหล็กชีทไพล์


สำนักข่าว กรมประ่ชาสัมพันธ์  26 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เร่งระบายน้ำเหนือให้ไหลออกสู่ทะเลรองรับปริมาณน้ำฝนรอบใหม่ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ โดยขอให้แจ้งเตือนท้ายน้ำล่วงหน้าหากเขื่อนปรับเพิ่มการระบายน้ำ เบื้องต้นกรมชลประทานเร่งพร่องน้ำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเก็บเกี่ยวข้าวก่อนน้ำหลากหรือใช้เป็นทุ่งรับน้ำ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มทรงตัวและลดลง เบื้องต้นกรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นช่วงเดือนกันยายน จากร่องมรสุมที่จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น อาจส่งผลให้มีฝนตกเกิดน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับน้ำหลาก โดยให้กรมชลประทานพิจารณาพร่องระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาให้มีพื้นที่รองรับน้ำหลากและหน่วงชะลอน้ำ ควบคู่กับแจ้งเตือนประชาชนเตรียมรับมือล่วงหน้าหากจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ทั้งนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสูบน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเร็วและให้ปฏิบัติตามมาตรการเตรียมรับมืออุทกภัย ทั้งการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร-เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที ส่วนกรณีจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำให้กรมชลประทานแจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะเดียวกัน กรมชลประทาน ยังเร่งพร่องน้ำในคลองชลประทานต่างๆในเขตพื้นที่ชลประทาน ให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมการหากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นทุ่งรับน้ำหลากในช่วงตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้ กล่าวถึงเกณฑ์การบริหารจัดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยากรณีมีการระบายน้ำและอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมด้านท้ายน้ำหรือเหนือน้ำ

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ให้หน่วยงานขออนุญาตต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำล่วงหน้า 3 วัน เพื่อพิจารณาเห็นชอบหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้ขออนุญาตประธานคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นชอบและให้รายงานคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งในการอนุญาตกำหนดให้ปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแบบขั้นบันได แล้วต้องบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร


  1. กอนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 22 จังหวัด พร้อมปรับแผนการบริหารจัดการน้ำและเร่งระบายน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก
  2. เริ่มแล้ว! การประชุม APEC ด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่รับผิดชอบต่อป่าไม้
  3. กอนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก พร้อมเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝนตกหนักและการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา
  4. กอนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก พร้อมปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์แบบขั้นบันไดวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.