• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 เมษายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังเกิดฝนตกจากพายุฤดูร้อนถึงวันที่ 2 พฤษภาคมนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (29 เม.ย.65) ว่า ช่วงวันที่ 28 เมษายน – 2 พฤษภาคม บริเวณประเทศไทยตอนบนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.พิจิตร 167 มิลลิเมตร , ปราจีนบุรี 112 มิลลิเมตร และกำแพงเพชร 104 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั่วประเทศทุกขนาด 22,856 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 39 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้มีน้ำอุปโภค-บริโภคตลอดทั้งปี อย่างกรมชลประทาน และ จ.ลพบุรี ได้ร่วมกันทำโครงการขุดลอกแม่น้ำบางขาม ตั้งแต่บริเวณสะพานท่าเรือ ต.มหาสอน อ.บ้านหมี่ ไปจนถึงบริเวณวัดเทพอำไพ ต.บางขาม อ.บ้านหมี่ รวมระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร คืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 38 คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในปีนี้ หากขุดลอกแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของแม่น้ำบางขามช่วงหน้าน้ำหลาก รวมทั้ง เพิ่มปริมาณเก็บกักน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้งได้มากถึง 21 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่รับประโยชน์ 40,000 ไร่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ อ.ท่าวุ้ง อ.บ้านหมี่ และ อ.เมืองลพบุรี รวมถึงผู้ที่อาศัยอยู่ทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำบางขามมีน้ำอุปโภค-บริโภค ผลิตน้ำประปา และทำการเกษตรไว้ใช้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 เมษายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังเกิดฝนตกจากพายุฤดูร้อนช่วงวันที่ 28 เมษายน – 2 พฤษภาคม

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (28 เม.ย.65) ว่า ช่วงวันที่ 28 เมษายน – 2 พฤษภาคม บริเวณประเทศไทยตอนบนในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.นครราชสีมา 50 มิลลิเมตร , เลย 41 มิลลิเมตร และราชบุรี 39 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั่วประเทศทุกขนาด 23,009 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 40 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 เมษายน 2565

นายสำเริง แสงภู่วงศ์ อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยในปีนี้ปฏิบัติการฝนหลวงได้เริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาโดยหลายพื้นที่ ที่ได้ขึ้นปฏิบัติการพบร้อยละ 90 ที่ปะสบความสำเร็จแต่ปริมาณน้ำยังไม่มากพอเหมือนหน้าฝน ขณะที่สถานการณ์ในภาพรวมในปีนี้จะไม่รุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมาแต่ยังคงมีพื้นที่ ที่อาจเกิดฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหรือน้ำผิวดินมีไม่เพียงพอโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานที่ใช้น้ำฝนในการทำเกษตรกรรม ดังนั้นกรมฝนหลวงและการบินเกษตรจึงจำเป็นต้องวางแผนช่วยเหลือประชาชนที่จะได้รับผลกระทบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ในการขึ้นบินแต่ละครั้งต้องดูความชื้นสัมพัทธ์ สภาพอากาศ ทิศทางของลม และปริมาณเมฆ เพื่อให้สามารถโปรยสารเคมีได้

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเพิ่มเติม 3 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.ลพบุรี อุบลราชธานี และจ.นครราชสีมา และขณะนี้ มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ เพื่อให้แผนการปฏิบัติการฝนหลวงสอดคล้องกับสถานการณ์ และครอบคลุมพื้นที่เพื่อเติมน้ำให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้มีปริมาณน้ำเพียงพอ

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตรย้ำปีนี้จะเกิดภัยแล้งไม่รุนแรงมากนัก พร้อมเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ด้วยการทำฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เกิดภัยแล้ง

อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงแผนรับมือภัยแล้งปีนี้ว่า ภัยแล้งจะไม่รุนแรงเหมือนกับปีที่ผ่านมา ยกเว้นบางพื้นที่อาจเกิดฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหรือน้ำผิวดินมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องวางแผนช่วยเหลือประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ โดยปีนี้จะต้องวางจุดขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงให้ตรงกับพื้นที่ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เบื้องต้นมียื่นขอฝนหลวงมาแล้ว 33 จังหวัด ควบคู่กับดูแผนการเพาะปลูกประจำปีด้วยเพื่อให้เพาะปลูกสอดคล้องกับปริมาณน้ำที่มี ทั้งนี้ การขึ้นบินแต่ละครั้งต้องดูความชื้นสัมพัทธ์ สภาพอากาศ ทิศทางของลม และปริมาณเมฆ เพื่อให้สามารถโปรยสารเคมีได้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 เมษายน 2565

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เร่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรเกี่ยวกับการจัดการมลพิษเนื่องจากน้ำมันและการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน และก้อนน้ำมันดิน พร้อมพัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ (Oil Fingerprint) มาใช้แก้ปัญหาน้ำมันรั่วในประเทศและหาผู้กระทำผิด

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กองจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางวิชาการ เรื่อง "การจัดการมลพิษเนื่องจากน้ำมันและการบ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมัน คราบน้ำมัน ก้อนน้ำมันดิน" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลจะช่วยให้การจัดการปัญหามลพิษเห็นผลมากขึ้น พร้อมพัฒนาศักยภาพการจัดการน้ำมันด้านต่างๆในประเทศไทย แล้วนำไปประยุกต์ใช้ป้องกันการเกิดน้ำมันรั่วไหล เนื่องจากปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันลงทะเลส่งผลให้เกิดคราบน้ำมันบริเวณชายหาดและก้อนน้ำมันดินตรงแนวชายฝั่งขึ้น กระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ทรัพยากรทางทะเล ระบบเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การประมง และการใช้ชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องใช้เวลายาวนานฟื้นฟูให้กับคืนความสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่สามารถบ่งชี้แหล่งที่มาของการรั่วไหลหรือผู้ที่กระทำความผิดได้ ที่ผ่านมา คพ. ได้พัฒนาฐานข้อมูลลายนิ้วมือน้ำมันดิบ (Oil Fingerprint) ถือเป็นเอกลักษณ์ของน้ำมันที่จะนำมาใช้บ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันได้ และผลิตภัณฑ์น้ำมันที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยภายใต้กรอบมาตรฐานสากล ภาพรวมจากการสำรวจพบสาเหตุการรั่วไหลของน้ำมันในประเทศไทยระหว่างปี 2516 - 2564 เกิดจากอุบัติเหตุไม่ทราบสาเหตุสูงถึงร้อยละ 35 จึงจำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีหรือเครื่องมือในการบ่งชี้แหล่งที่มาของคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันดิน เพื่อให้ผู้กระทำความผิดมารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการจ่ายค่าฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับสู่สภาพเดิม

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า ปัจจุบันได้ใช้การพิมพ์ลายนิ้วมือน้ำมันดิบ (Oil Fingerprint) เพื่อเปรียบเทียบความเหมือนของคราบน้ำมันหรือก้อนน้ำมันกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องสงสัย โดยจะนำมาใช้บ่งชี้แหล่งที่มาของน้ำมันของประเทศไทยต่อไป แล้วจะตรวจสอบจากตัวชี้วัดทางชีวภาพที่คงทนและไม่เสื่อมสลายไปกับกระบวนการทางธรรมชาติเพื่อย้อนกลับไปบ่งชี้แหล่งที่มา ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถนำมาจัดการมลพิษทางน้ำจากการรั่วไหลของน้ำมัน คราบน้ำมัน และก้อนน้ำมันดินที่เกิดในประเทศให้ลดน้อยลง พร้อมร่วมกับประเทศต่างๆควบคุมการลักลอบการระบายน้ำมันและคราบน้ำมันลงสู่สิ่งแวดล้อมต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 เมษายน 2565

ว่าที่ร้อยตรี ธนะสิทธิ์ เอี่ยมอนันชัย รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวถึงสภาพอากาศในช่วงต้นสัปดาห์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียส และมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนภาคใต้ มีฝนตกร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ซึ่งลักษณะของสภาพอากาศร้อนและมีฝนตกจะยังเกิดขึ้นอีก 1-2 วัน

สำหรับวันที่ 28-30 เมษายนนี้ จะมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง รวมถึงอาจเกิดฟ้าผ่าร่วมด้วย ซึ่งสภาพอากาศในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นจนถึงช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้ สภาพอากาศของประเทศไทยมีความแปรปรวน เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากฤดูร้อนเข้าสู่ฤดูฝน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 เมษายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนตอนบนของประเทศและภาคใต้ระวังเกิดฝนตกบางพื้นที่ พร้อมเร่งส่งน้ำให้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงรากเพาะปลูกข้าวนาปี เพื่อได้เก็บเกี่ยวก่อนหน้าน้ำหลาก

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (24 เม.ย.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนน้อยแต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักมากบริเวณ จ.จันทบุรี 71 มิลลิเมตร , อุบลราชธานี 53 มิลลิเมตร และเพชรบูรณ์ 49 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั่วประเทศทุกขนาด 23,585 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 41 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ติดตามการเตรียมส่งน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงราก เพื่อพร้อมรับมือฤดูฝนปีนี้ โดยให้กรมชลประทาน เตรียมพร้อมส่งน้ำให้เกษตรกรพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งเชียงรากเพาะปลูกข้าวนาปี เพื่อให้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวข้าวก่อนหน้าน้ำหลาก ด้วยการเร่งนำเครื่องสูบน้ำเข้าติดตั้งบริเวณปากคลองส่งน้ำ 6 ขวา ต.หนองหม้อ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ สูบน้ำจากคลองชัยนาท-ป่าสัก เข้าสู่คลองส่งน้ำ 6 ขวา สำหรับให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำเชียงราก บริเวณ อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ อ.สรรพยา จ.ชัยนาท และอ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ซึ่งเริ่มเพาะปลูกตามการปรับปฏิทินการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น โดยเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จก่อนหน้าน้ำหลากจะมาถึงนี้ ถือเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จากนั้นจะใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำหลากลดผลกระทบพื้นที่ตอนล่างต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามโนรมย์ เร่งกำจัดวัชพืชและขุดลอกตะกอนดินในคลอง 6 ขวา เพื่อให้การลำเลียงน้ำมายังพื้นที่ลุ่มต่ำเชียงรากเป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ สามารถส่งน้ำให้เกษตรกรได้เพาะปลูกตามแผนที่กำหนดได้อย่างทั่วถึง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 เมษายน 2565

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทาน ร่วมมือกับ Agriculture Development Consultant Association (ADCA) แห่งรัฐบาลญี่ปุ่น ดำเนินการศึกษาวิจัยแนวทางบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย โดยเลือกจังหวัดชลบุรี ที่แนวโน้มความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้

จังหวัดชลบุรี เป็น 1 ใน 3 จังหวัดในเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ที่มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นที่ตั้งของท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือขนส่งสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครและเมืองพัทยา เมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย หากไม่มีการเสริมความมั่นคงให้น้ำต้นทุนและดูแลคุณภาพน้ำ ในอนาคตย่อมเกิดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยมีอ่างเก็บน้ำบางพระ เป็นแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ ที่จะใช้สนับสนุนการใช้น้ำของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการอุปโภคบริโภค การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการเกษตร

สำหรับการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 โดย ADCA ได้นำเทคโนโลยีการวัดปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำ พร้อมระบบประมวลผล มาติดตั้งบริเวณลำห้วยต่างๆ ที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำบางพระ รวมทั้งการติดตั้งสถานีวัดน้ำฝน การติดตั้งระบบการวัดคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำและการวัดปริมาณน้ำไหลออก สำหรับเทคโนโลยีที่ ACDA นำมาใช้ ทำให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำมากำหนดเวลาที่เหมาะสมในการผันน้ำมาใช้ในแต่ละช่วงเวลาของปี รวมไปถึงการส่งน้ำที่มีคุณภาพเหมาะสมต่อทุกกิจกรรมใช้น้ำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในระบบอ่างฯพวงได้เป็นอย่างดี และภายในปี 2565 นี้ ADCA จะส่งมอบอุปกรณ์ต่างๆ พร้อมจัดทำคู่มือดูแลบำรุงรักษา Software และ Hardware ทั้งระบบให้กับกรมชลประทาน เพื่อใช้งานต่อไป ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ จะให้ความสำคัญกับน้ำกินน้ำใช้เป็นอันดับต้นๆ เนื่องจากมีความต้องการใช้สูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่แหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนมีจำกัด

หากสามารถควบคุม จัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างมีคุณภาพได้ จะช่วยขับเคลื่อนการใช้น้ำในทุกภาคส่วนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างพอเพียง สอดรับกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 เมษายน 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้ประชาชนทั่วประเทศระวังเกิดฝนตก พร้อมระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน หลังเขื่อนจิ่งหงของประเทศจีนปรับเพิ่มการระบายน้ำและมีฝนตกท้ายเขื่อน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 เม.ย.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัว , ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเกิดฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ ส่วนภาคใต้เกิดฝนฟ้าคะนอง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ชลบุรี 97 มิลลิเมตร , นครราชสีมา 81 มิลลิเมตร และอุตรดิตถ์ 68 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำใช้การแหล่งน้ำทั้งประเทศทุกขนาด 23,800 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 41 จุดเฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่วนคุณภาพน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคและการเกษตร ณ จุดเฝ้าระวัง ในแม่น้ำสายหลัก แม่น้ำเจ้าพระยา บางปะกง แม่กลองอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้นแม่น้ำท่าจีนมีปริมาณออกซิเจนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังเขื่อนจิ่งหงของประเทศจีนเพิ่มขึ้นสะสมต่อเนื่องจากวันที่ 18 –21 เมษายนประมาณ 2 เมตร หรืออัตราการระบายน้ำสะสม 1,590 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องมาจากการระบายน้ำเพิ่มขึ้นและมีฝนตกบริเวณท้ายเขื่อน เบื้องต้นได้ประเมินระดับน้ำในแม่น้ำโขงจากสถานการณ์ดังกล่าวคาดการณ์ว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องช่วงวันที่ 22 – 29 เมษายน โดยช่วงเหนือเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว บริเวณสถานีเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องรวมระดับน้ำเพิ่มขึ้นสะสมในช่วงเวลาดังกล่าวประมาณ 1.90 - 2 เมตร และช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรี สปป.ลาว ตั้งแต่สถานีเชียงคาน จังหวัดเลย ลงมาถึงสถานีโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 50 เซนติเมตร ซึ่งขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.