สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 27 ตุลาคม 2565
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ปรับลดการระบายน้ำเขื่อนต่างๆลง หลังสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูลเริ่มคลี่คลาย พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นถึงวันที่ 9 พฤศจิกายน
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (27 ต.ค.65) ว่า ปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปัจจุบันปริมาณน้ำทางตอนบน และปริมาณฝนในพื้นที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนลงและหลายพื้นที่สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลายลง ส่วนปริมาณน้ำในลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูลปริมาณน้ำจากทางตอนบนเริ่มลดลงเช่นกัน ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักและสายรองบางแห่งลดลงต่อเนื่อง โดยกรมชลประทานจะพิจารณาการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ควบคู่กับเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุดเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้ง สำหรับพื้นที่ภาคใต้ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านภาคใต้ตอนกลางและตอนล่างตลอดช่วง ทำให้ภาคใต้ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ให้พร้อมปฏิบัติตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้ โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมให้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนล่วงหน้าให้สามารถรับมือได้ทันทีและลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด รวมทั้ง สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง และวางแผนช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง ตรวจสอบความมั่นคงของอาคารชลประทานและระบบส่งน้ำให้ใช้งานได้ในสภาพที่สมบูรณ์
ทั้งนี้ กอนช. ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นช่วงวันนี้ - 9 พฤศจิกายน เนื่องจากน้ำทะเลหนุนสูงและมีมรสุมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ โดยมีกำลังแรงเป็นระยะ ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคใต้ตอนกลางในบางช่วง รวมทั้ง มีการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติประมาณ 1.70 - 2.20 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปัจจุบันมีพื้นที่เกิดอุทกภัยใน 29 จังหวัด คือ พิษณุโลก พิจิตร อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นครปฐม ชัยนาท นนทบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ ยโสธร นครราชสีมา สุรินทร์ นครนายก ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 68,476 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 83