• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กฟผ. เดินหน้าโครงการ EGAT TOGETHER นำทีมนักดำน้ำจิตอาสา และเครือข่ายพันธมิตร จัดกิจกรรม ดำน้ำเก็บขยะ ตัดอวน กระตุ้นคนไทยร่วมอนุรักษ์ระบบนิเวศใต้ทะเลอย่างยั่งยืน

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 พฤศจิกายน  2565

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดโครงการ EGAT TOGETHER โดยกลุ่มนักดำน้ำจิตอาสา กฟผ. ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กองทัพเรือ และภาคเอกชน จัดกิจกรรมดำน้ำเก็บขยะ ตัดอวน ชวนอนุรักษ์ทะเลไทย บริเวณพื้นที่โครงการวางบ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าของ กฟผ. จังหวัดชลบุรีและจังหวัดภูเก็ต เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลของประเทศไทย และสร้างความตระหนักรู้ด้านการอนุรักษ์ท้องทะเลไทยอย่างยั่งยืน ให้แก่เยาวชน นักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป โดยมี นายไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ทช. นักดำน้ำจิตอาสา กฟผ. กลุ่ม “SEA SPARK” กลุ่ม Save The Planet Associate (SPA) นักประดาน้ำจากกรมสรรพาวุธทหารเรือ กองทัพเรือ ชมรมผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำแบบเดินใต้ทะเล (Sea walker) และบริษัท เอวันพัทยา จำกัด ร่วมสนับสนุนกิจกรรมครั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 ณ เกาะล้าน เกาะสาก อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ณ หาดป่าตอง อำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต

นายนำพล โพธิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์ความยั่งยืน (อกย.) กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ดำเนินโครงการ EGAT TOGETHER เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานมีจิตสาธารณะและมีส่วนร่วมดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) โดยที่ผ่านมาจิตอาสา กฟผ. ทั้งผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรม CSR ที่ กฟผ. จัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาเพื่อร่วมกันจัดกิจกรรม CSR เพื่อช่วยเหลือสังคมและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งในสถานการณ์ปกติหรือในช่วงวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา

นางสาวธนิดา ประจวบเหมาะ หัวหน้ากลุ่มนักดำน้ำจิตอาสา กฟผ. กล่าวว่า กลุ่ม “SEA SPARK” เป็นการรวมกลุ่มกันของนักดำน้ำจิตอาสาของ กฟผ. มีทั้งนักดำน้ำเพื่อสันทนาการ และนักประดาน้ำ กฟผ. หลายท่านอาจไม่ทราบว่า กฟผ. มีวิชาชีพนักประดาน้ำ ซึ่งทำหน้าที่หลักในการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์ใต้น้ำของเขื่อนและโรงไฟฟ้า โดยบุคคลเหล่านี้ได้รับการฝึกฝน จนเกิดทักษะความเชี่ยวชาญในการดำน้ำ และมีทักษะความรู้ด้านงานช่างด้วย ทีมนักประดาน้ำ กฟผ. ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสำคัญระดับโลก เช่น การช่วยเหลือและค้นหาทีม 13 หมูป่า ณ ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย

นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีกิจกรรม CSR ที่สำคัญ คือ โครงการวางบ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า ซึ่ง กฟผ. ร่วมกับ ทช. และกองทัพเรือ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยนำปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าไปวางไว้ใต้ท้องทะเลไทย ตั้งแต่ปี 2554 ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส พังงา และภูเก็ต เพื่อช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศและอนุรักษ์ท้องทะเลไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์อย่างยั่งยืนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติในด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตามหลัก Circular economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน บริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการหมุนเวียนของทรัพยากรหรือวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่ง กฟผ. ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นแนวทางในการดำเนินงานตลอดมา


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.