สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 21 พฤศจิกายน 2565
ส่วนใหญ่มลพิษอากาศกระจุกตัวอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ไทยเป็นหนึ่งในประเทศรายได้ปานกลางที่เผชิญกับมลพิษอากาศที่สูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกอย่างมาก
ในทางเศรษฐศาสตร์สามารถประเมินมูลค่าผลกระทบจากมลพิษอากาศต่อเศรษฐกิจและสังคมได้ ซึ่งผลการประเมินผลกระทบมักแตกต่างกันตามระดับการพัฒนาประเทศ เช่น ในญี่ปุ่นมูลค่าความเต็มใจจ่ายสำหรับทุก ๆ 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปี ที่ลดลงของ PM2.5 มีค่าเท่ากับ 7,111 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี
ในสหภาพยุโรปพบว่า ทุก ๆ 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตรของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในรูปที่แท้จริงลดลง 0.8% โดย 90% ของผลกระทบเกิดจากการที่ผลผลิตต่อแรงงานลดลง
สำหรับประเทศไทยครัวเรือนกรุงเทพฯ มีความเต็มใจจ่ายในทุก ๆ 1 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร/ปีที่ลดลงของ PM10 และ PM2.5 เท่ากับ 4,392-5,794 และ 8,116 บาทต่อปี ตามลำดับ
หากนำมูลค่าความเต็มใจที่จะจ่ายหน่วยสุดท้ายของแต่ละจังหวัดมาคูณกับความเข้มข้นของ PM2.5 ที่เกินค่าแนะนำเก่าขององค์การอนามัยโลก ผลการศึกษาพบว่า ในปี 2563 มูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจาก PM2.5 จะมีมูลค่าเท่ากับ 1.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 10.68% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
โดยกรุงเทพฯ มีมูลค่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมสูงที่สุดเท่ากับ 343,288 ล้านบาท โดยมูลค่าผลกระทบข้างต้นครอบคลุมเฉพาะส่วนของครัวเรือน ยังไม่ได้รวมมูลค่าผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ภาคการท่องเที่ยว เป็นต้น