• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กอนช. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 7 จังหวัด จากฝนตกหนักถึงหนักมาก ช่วง 6 - 11 ม.ค.

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคใต้ 7 จังหวัด จากฝนตกหนักถึงหนักมาก ช่วงวันที่ 6 - 11 มกราคม

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (5 ม.ค.66) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.นครศรีธรรมราช , สุราษฎร์ธานี และยะลา ในส่วนของเขื่อนบางลาง จ.ยะลา มีปริมาณน้ำกักเก็บ 1,225.43 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 84.3 ยังสามารถรองรับน้ำได้อีก 228.93 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีการระบายน้ำอยู่ที่ 10.05 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงและเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ช่วงวันที่ 6 - 8 มกราคมนี้ หลังภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ด้วยการเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วงวันที่ 6 - 11 มกราคม ใน จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส แล้วยังต้องระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก

พร้อมทั้ง เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) รวมถึง อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 แล้วมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลางให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

ทั้งนี้ กอนช.ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ // ปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น – ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก พร้อมซ่อมแซมแนวคันบริเวณริมแม่น้ำและเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำด้วย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.